1959 Royal Enfield Crusader
1959 Royal Enfield Crusader
สปอร์ต สมรรถนะสูง ธรรมเนียมแท้รถ “สูบเดียว” จากอังกฤษ
เท้าความไปถึงยุค “ก่อตั้ง” ของโรงงาน Eicher Motor Manufactured ในยุคปี 1893 จากธุรกิจที่เริ่มจากผลิตเครื่องตัดหญ้าและแท่นพิมพ์ขนาดใหญ่…สู่…ไลน์ของรถจักรยาน-รถจักรยานยนต์ในนามของ Enfield Cycle Company ในปี 1901 ซึ่งโปรดักส์ที่สร้างชื่อเสียงและเสมือนตำนานที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงคือสายการผลิตรถจักรยานยนต์ในนามของรุ่น Royal Enfield Bullet…เหมือนกับโรงงานใหญ่ๆ ทั่วไปในเกาะอังกฤษ Royal Enfield ได้สัญญาจ้างจาก “ภาครัฐ” ด้วยคำสั่งซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ในสงคราม ชื่อเสียงของ Enfield Rifle (ปืนไรเฟิล) เป็นที่ยอมรับในความเยี่ยมยอด และเราได้เห็น “ตราสินค้า” นี้ในเครื่องหมายของบริษัทพร้อมข้อความ “Made Like A Gun” ที่สร้างความภาคภูมิใจ
ชุดหน้ากระบอกเทเลสโกปิกล็อกแกนล้อแบบประกับ บนล้อหน้าขนาด 17 นิ้ว ดุมเต็มขนาด 6 นิ้ว
ในปี 1955 Enfield Cycle Company ได้พันธมิตรใหม่ในอินเดียในนามของ Madras Motors เพื่อผลิตรถจักรยานยนต์ Royal Enfield 350 Bullet ซึ่งมีฐานการผลิตที่เมือง Chennai (เจนไน) โดยเริ่มต้นจากชิ้นส่วนการผลิตที่นำเข้ามาประกอบจากอังกฤษ ก่อนที่ในปี 1957 จะใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตจากอังกฤษ และเริ่มปรับมาใช้ชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตในอินเดียแทน…กระมั่ง…ในปี 1962 ทั้งเครื่องยนต์และชิ้นส่วนก็ถูกผลิตขึ้นในอินเดีย…ทั้งหมด!!!
ละมุนตา ต้องเครื่องยนต์ธรรมเนียม “อังกฤษ” แท้ๆ Crusader “เกียร์รวม” ที่แบ่งชุดห้องแคร้งค์ไว้เป็นอ่างน้ำมันเครื่อง คาร์บิว Amal เกียร์ขวา กับการจัดวางชิ้นงานที่เนียนตาดี
ย้ายวิก…กลับมาในอังฤษ 1957 แบบการผลิตเครื่องยนต์แบบซิงเกิลขนาด 248 ซี.ซี. ได้ถือกำเนิดขึ้นในนามของ Crusader (ครูเซเดอร์) ด้วยแนวคิดที่เน้นความเป็นรถเอนกประสงค์ขนาดกะทัดรัด ใช้งานได้ทั่วไป เครื่องยนต์แบบ “เกียร์รวม” (Unit-construction) 4 จังหวะ ก้านกระทุ้งวาล์วขนาด 18 แรงม้า บนมิติห้องเผาไหม้ขนาด (กระบอกสูบ/ ช่วงชัก) 70/ 64.5 ม.ม. กับกำลังอัดขนาด 7.3 : 1…บล็อกแรกเลือกใช้ “เสื้อสูบเหล็ก” ทว่า ก็ยังคงใช้ระบบหมุนวนน้ำมันเครื่องแบบห้องเก็บแยก (Dry-sump) ที่ออกแบบรวมอยู่ในห้องแค้งค์เครื่องยนต์ ข้อเหวี่ยงใหญ่ และก้านสูบวัสดุอะลูมิเนียม การจัดวางชิ้นส่วนที่ลงตัว บนล้อหน้า/ หลังขนาด 17 นิ้ว พร้อมระบบความปลอดภัยด้วยดุมหน้าขนาด 6 นิ้ว Crusader น้องใหม่คันนี้จึงเป็นที่หมายตา และได้รับการปรับแต่ง นำมาพัฒนาเป็น “รถสนาม” ชิงชัยในหลากหลายรายการหลัก
กะโหลกไฟหน้า บนหัวไอ้โม่งทรงใบโพธิ์ คิ้วจานฉาย 2 ชั้น พร้อมไฟหรี่คู่ ส่วนบาร์ทรงเขาควาย เปลี่ยนใหม่ ดูดรูปลง แต่ภาพรวมนั้น ยังคงได้ความปเนรถสปอร์ตที่น่าคร่อม
จาก “ยอดขาย” ที่เดินได้สวย 1960 Crusader Sport ได้รับการพัฒนาขึ้นอีก ภายใต้แนวคิด “รถสปอร์ต” บังโคลนบาง แฮนด์ต่ำ ถังใหญ่ ที่มีสมรรถนะเครื่องยนต์ยอดเยี่ยม เครื่องยนต์ปรับเปลี่ยนเสื้อสูบมาใช้วัสดุอะลูมิเนียม (เดิมเหล็กหล่อ) ช่องพอร์ทที่ขัดเกลา กำลังอัดขนาดใหม่ที่ 8.5 : 1 คือของแถมพกที่มาพร้อมชุดเกียร์แบบ 5 สปีด และดุมเบรกหน้าขนาด 7 นิ้ว (เดิม 6 นิ้ว) นี่คือความสมบูรณ์แบบสูงสุดในรุ่นที่สื่อยุคนั้นยังพาดหัวข่าวว่า “The 250 with 350 Perfromance” (รถ 250 ซี.ซี. ที่ให้สมรรถนะเหมือนรถขนาด 350 ซี.ซี.) และ Crusader Sport ยังประกาศกร้าว…ว สัมทับด้วยความเร็วท็อปสปีดไว้ที่ 80 ไมล์/ ชม. (130 กม./ ชม.)
ท่อไอเสียฟอร์แมทที่เจนตา ทรงนี้ไม่บอกก็รู้ R-E ที่ให้เสียงรอบเดินเบานั้นหนักแน่นดี
โช้คหลัง Girling มีปลอกคลุมครึ่งท่อน โชว์คอยยส์ปริง เรียบง่าย ดูสปอร์ต
มิติในแบบรถสปอร์ตแฮนด์ต่ำ มุมมองนี้ เห็นแล้ว น่าคร่อม…ชะมัด!!!
“ช่างไข่ ครูเซเดอร์” ขี่เอง ซ่อมเอง แถมเก็บงานได้เนี๊ยบสมใจ คันนี้รถแท้บ้านเรา “วัฒนายนต์” คือผู้จัดจำหน่ายในยุค และเข้ามาในบ้านเราไม่มากจำนวนนัก
1959 Roral Enfield Crusader
รถ / รุ่น Royal Enfield/ Crusader
ปีผลิต 1955-1962
เจ้าของ ไข่ ครูเซเดอร์
เครื่องยนต์ OHV-Single 4 จังหวะ 248 ซี.ซี. ก้านกระทุ้งวาล์ว
ระบายความร้อยด้วยอากาศ
กระบอกสูบ/ ช่วงชัก 70/ 64.5 ม.ม.
แรงม้า 18 แรงม้า
ระบบไฟ ทองขาว
ระบบเกียร์ 4 เกียร์ (ขวา)
ระบบคลัตช์ เปียก (หลายแผ่น อ่างน้ำมันเครื่องรวม)
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) เทเลสโกปิค / สวิงอาร์มโช้ค-กระบอกคู่
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (ดุมเต็มขนาด 6 นิ้ว-บนล้อ 3.25 X 17 นิ้ว)
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: https://en.wikipedia.org/wiki/Royal_Enfield