1985 Honda CBR400F Endurance F3
ภารกิจพิเศษ “ต้นแบบ” วาล์วอัจฉริยะ
“เกิดทัน” เลยค่อนข้างที่จะ“อิน” ในเทรนด์ที่ “พี่หลิว” นั้นคือไอดอล “ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ” หรือ A Moment of Romance ลงโรงครั้งแรกในปี 1990 ลายเซ็นหนังแนว Heroic Gangster ของ “หลิว เต๋อหัว” หนังสุดคลาสสิกแห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนฮ่องกง เล่นเอาป่วนกันทั้งสามโลก แบบนี้…มาว่ะ!!! “รถใหญ่” แฟริ่งเต็มคือ “ของเล่น” วัยโจ๋ที่ถวิลหา “3 ทศวรรษ” ผ่านไปมัน “ย่ำรอย” จะ แจ๊ปไบค์ เรโทร กระทั่ง สปอร์ตย้อยเทรนด์ ก็กินความหมายเดียวกัน เราจับผสม ชงให้เสร็จสรรพ คีย์เวิร์ด “วัยรุ่น’90” คือคำสืบค้น ที่มาร์คตรงไหน ก็มันส์…พะยะค่ะ…!!!
Honda CBR400 : รหัสนี้สร้างชื่อเสียงในฐานะรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นของฮอนด้าที่ดังก้องโลกตั้งแต่ปี 1983 พื้นฐานของเครื่องยนต์แบบ 4 สูบแถวเรียง 4 วาล์ว/สูบ ระบายความร้อนด้วยอากาศ ที่ทรงประสิทธิภาพคือ “จุดขาย” ที่ต้องตา ภายใต้รหัสของ CBR400 นั้น แตกดอก ออกผล ภายใต้ภารกิจเฉพาะมากมาย CBR400R (NC17) รถ “เน็กเก็ต” คลอดให้เห็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1983 มันมาพร้อมระบบวาล์วอัจฉริยะ ที่เรียกว่า “REV” ซึ่งต่อมาเข้าใจตรงกันว่า “วาล์วแปรฝัน” ต้นแบบของระบบวาล์ว V-TEC ที่ถือเป็นไฮไลต์ในงานวิศวกรรมเครื่องกลของโรงงาน
CBR400F คือหนึ่งใน “ผลิตผล” ที่เกิดขึ้นเพื่อภารกิจพิเศษอีกเช่นกัน ในปี 1985 ทุกแบรนด์หมายมั่นลงชิงชัยในรายการแข่งขัน คลาส F3 (เครื่องยนต์ 2 จังหวะไม่เกิน 250 ซี.ซี./ เครื่องยนต์ 4 จังหวะ ไม่เกิน 400 ซี.ซี.) เจ้าสังเวียนตอนนั้นต่างเป็นการแบ่งเค้กของ Ducati Pantah และ Suzuki GSX-R ทว่า เมื่อ CBR400 ลงสังเวียน ด้วยเครื่องยนต์ที่นุ่มนวล ทรงพลัง ขับขี่ง่าย แถมน้ำหนักตัวก็เบากว่า “วาล์วและฝาสูบพิเศษ” คือกุญแจดอกสำคัญที่ไขความสำเร็จให้ฮอนด้าได้สมหวังอย่างต่อเนื่อง
“REV” ที่อยู่บนรถรหัส CBR400 ของฮอนด้านั้นพิเศษ มันสร้างความเร็วในรอบเครื่องยนต์ระดับ “ต่ำ” ไปจนถึง “กลาง” โดยจะทำงานด้วยวาล์วเพียง 2 ตัว/สูบ ทว่า ในขณะที่รอบเครื่องยนต์ผ่านย่านความเร็ว “สูง” คือที่ 8,500 รอบ/นาที วาล์วชุดที่สองจะเข้ามาทำงาน มันเปลี่ยนมาใช้วาล์วแบบ 4 ตัว/สูบ “วาล์วเปิด โลกเปลี่ยน” นี่คือคำจำกัดความที่เข้าใจง่าย ซึ่งเครื่องยนต์รหัส CBR นั้น เคลมช่วง Red-line ไว้สูงสุดที่ 12,750 รอบ/นาที
CBR400F Endurance F3 ไม่มีข้อยกเว้นในสมรรถนะขั้นสุดยอดนี้ ขุมพลัง 399 ซี.ซี. 58 แรงม้าที่รอบเครื่องยนต์ 12,300 รอบ/นาที รถฟูลแฟริ่ง ช่วงล่างหน้าเทเลสโคปิก หลังสวิงอาร์มอะลูมิเนียมท่อเหลี่ยม โช้คเดี่ยว ที่วางบนล้อหน้า/หลัง ขนาด 16/18 นิ้ว เบรกหน้าดิสก์คู่ ขับเคลื่อนด้วยชุดเกียร์แบบ 6 สปีด ด้วยน้ำหนักตัวรวมที่ 174 กก. ในปี 1985 นิตยสาร Cycle World ได้มีการเก็บสถิติความเร็วในระยะควอเตอร์ไมล์ไว้ที่ 13.63 วินาที (ที่ความเร็ว 154.40 กม./ชม.) ทว่า ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ตอนนั้น…เลขที่ออกคือ 179 กม./ชม. (111 Mph.)