Classic Bike

1990 Honda VFR400R NC30

 

 “ตาคู่-โปรอาร์ม” เต็งหนึ่งสายปีกนก

“ช้างไทย” มนต์ชัย คนนี้ของจริงวงการ พิสมัยเทรนด์ยุค’80-90 เก็บจนเข้าเส้น จากรถเล็ก เสื้อผ้าวินเทจ ตอนนี้สปอร์ตไบค์เรโทร ซื้อเข้าอย่างเดียวเลย ถ้าได้เห็นช็อปแกนะ…ตาแตก!!! แบบพิมพ์ของรุ่น VFR400 รถแฟริ่งเต็ม ที่มาพร้อมสีสันที่เป็นเอกลักษณ์
เพราะเทคโนโลยีจากสนามแข่งขันที่ประดังมาให้ใช้สอย นี่คือรถรุ่นแรกขนาด 400 ซี.ซี. ที่สามารถทำความเร็วสูงสุดทะลุ 240 กม./ชม.

        เกิดทัน!!!…แต่ก็ได้แค่มอง มันของเล่นวัยรุ่น “มีสตังค์” ถึงแม้จะเป็นรถ “โกดัง” ทว่า ก็ใช้เงินถมอยู่ไม่น้อย ของแต่งยุ่นสารพันถูกสุมจนสวยผิดแผก สนนราคา 6-7 หมื่น ตอนนั้นมันทรงค่าราว “หกหลัก” การณ์นี้ 3 ทศวรรษล่วงมา จักรเฟืองนั้นวกกลับมา “วัยรุ่น’90” คือ “คีย์เวิร์ด” ที่หวังตามเสพ และแน่นอน NC30 คือสรรพนามของรถ “ไฟคู่-โปรอาร์ม” รถสปอร์ตแฟริ่งเต็มที่ติดโผอยู่ใน…อันดับต้น!!!   

ไฟหน้าคู่ (Twin headlight) โสตแรกที่ได้รับการอัปเกรดในปี 1989 แม้จะผลิตตามหลังคู่แข่ง
ทว่า กลับเป็นภาพจำได้มากกว่า เมื่อนึกถึงรถไฟคู่ ทุกคนจะรู้จักมันในนาม NC30

Honda VFR400 : คือซีรี่ส์ของรถมอเตอร์ไซค์เครื่องหมายของ “ฮอนด้า” ที่ใช้บล็อกเครื่องยนต์แบบ V4 ระบายความร้อนด้วยน้ำขนาด 399 ซี.ซี. ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากสนามแข่งขัน และเริ่มเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นทันทีเมื่อวางตลาด และถือว่าสร้างกระแสของเทรนด์รถสปอร์ตขนาดกลางได้อย่างน่าชื่นชม

สีสันที่เป็นเอกลักษณ์ น้ำเงิน/ขาว/แดง นัยถึง “รถแรง” ที่ผลิตออกจากโรงงานรถแข่ง
เครื่องยนต์แบบ V4/59 แรงม้า ถือว่าไม่ธรรมดาหากเทียบเคียงกับแบบการผลิตต้นในปี 1989 ซึ่งนั่นมากกว่า “3 ทศวรรษ” ที่ผ่านมา
สวิงอาร์มแขนเดี่ยว มาสเตอร์พีซที่ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดที่ร่วมพัฒนาระหว่าง Honda และ ELF-design, France
ซึ่งช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนล้อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น อานิสงส์จากรถสนาม ที่ได้รับการปรับใช้ในรถถนนสายพันธุ์แรงของฮอนด้า

1st. Generation : VFR400 เจนท์แรกถูกผลิตขึ้นในปี 1986-1987 ภายใต้นิคเนมที่เรียกขานกันว่า NC21 รถรุ่นใหม่ที่ผลิตแทนที่รุ่น VF400F ซึ่งทำการผลิตออกมาใน 4 เวอร์ชัน ทั้ง R/Z/K และP ซึ่งความโด่งดังสูงสุดถูกเทไปที่รุ่น “R” (VFR400R) รถฟูลแฟริ่งที่เด่นสะดุดตาด้วยสีสันในเอกลักษณ์ของฮอนด้า น้ำเงิน/ขาว/แดง บนเฟรมหลักแบบอะลูมินัมที่ทำงานร่วมกับซัพเฟรมแบบเหล็ก สวิงอาร์มแบบแขนคู่ บนล้อแม็ก 3 ก้าน ไฟหน้าแบบเหลี่ยม คือโสตแรกที่แจ้งเกิดในบ้านเกิด   

มาตรวัดทรงกลม แอนะล็อกล้วนๆ ช่วง Redline ของ NC30 ขยับขึ้นมาที่ 14,500 รอบ/นาที
เรียกว่าจัดจ้านกว่าค่ายคู่แข่งในระดับเดียวกัน เหตุนี้น่าจะโดนใจ “โจ๋ไทย” ยุค’90
เบรกหน้า คาลิเปอร์คู่ 4 พอท จานโฟลทติ้ง หนึบรับกับความกร้าวของเครื่องยนต์ 59 แรงม้า

2nd. Generation : VFR400R ถูกผลิตขึ้นในปี 1987-1988 รถโมเดลแรกที่ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดที่ร่วมพัฒนาระหว่าง Honda และ  ELF-design และรู้จักกันในนาม NC24 ที่โดดเด่นด้วยสวิงอาร์มแบบแขนเดี่ยว (Pro-Arm) มีการยกเลิกระบบคลัตช์แบบไฮดรอลิก หันกลับมาใช้คลัตช์แบบสายเคเบิล โช้คหน้ากันชกมวยด้วยระบบ TRAC (Torque Reactive Antidrive Circuit) ทว่า มันไม่สามารถปรับตั้งค่าได้ บนล้อลายใหม่ ด้านหน้าแบบ 6 ก้าน ส่วนล้อหลัง 8 ก้าน ทว่า ยังคงเป็นรถฟูลแฟริ่งที่ใช้ไฟหน้ารูปทรงเหลี่ยมอย่างเดิม ท่อไอเสียทางด้านขวา แต่ขยับปลายไซเรนเซอร์ให้สูงขึ้น และนอกเหนือจากสีสันโรงงานแล้ว NC24 ยังมีรถรุ่นพิเศษที่ผลิตตามออกมาในปี 1988 ในสีสันของรถแข่งลาย Rothmans Replica อีกด้วย

ไฟท้ายแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 ช่อง ในขณะที่ไฟหน้าดันเป็นแบบวง 2 ดวง
คือความคอนทราสต์ที่ตั้งใจ เรียกว่าเป็นแนวคิดที่กล้าของทีมออกแบบทีเดียว
ท่อไอเสียของ NC30 ถูกย้ายมาทาง “ด้านซ้าย” เพื่อโชว์ความพิเศษของชุดล้อหลังโปรอาร์ม
และสามารถเปลี่ยนล้อได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องถอดท่อ

3rd. Generation : VFR400R รุ่นถูกผลิตขึ้นในปี 1989-1992 ซึ่งรู้จักกันในนาม NC30 การเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นที่ไฟหน้าแบบ “วงกลม 2 ดวง” (Twin headlight) มีการย้ายท่อไอเสียมาไว้ทางด้านซ้ายของตัวรถ เพื่อเผยให้เห็นส่วนของสวิงอาร์มแบบ Pro-Arm ได้เด่นชัดขึ้น เครื่องยนต์มีการพัฒนาขึ้นใหม่ ให้มีความจัดจ้านมากยิ่งขึ้น รอบเครื่องยนต์ถูกขายช่วง Red-line ไว้ที่ 14,500 รอบ/นาที (เดิม 14,000 รอบ/นาที) ระบบจุดระเบิดแบบใหม่ ช่วยให้ NC30 ทำลายความเร็วใหม่ทะลุ 240 กม./ชม. (150 Mph.) ถือเป็นรถสปอร์ตขนาดกลางที่เร็วที่สุดในห้วงเวลานั้นก็ว่าได้ แถมโรงงานยังผลิตส่งออกอีกด้วย โดยเฉพาะในแถบยุโรป ซึ่งมีสีสันให้เลือกมากถึง 8 เฉดสี ทว่า ยังคงเลือกแบบพิมพ์ของรถไฟหน้าทรงเหลี่ยมให้ไป กระนั้น ก็น่าเสียดายNC30 ไลน์ผลิตสุดท้ายอยู่ในปี1992 ก่อนได้รับการแทนที่ด้วยรถสมรรถนะและบล็อกเครื่องยนต์ที่ใหญ่กว่า และส่งมันเป็น “เรือธง” ในนามของรุ่น VFR750R (RC30)     

สวิตช์ควบคุมซ้าย/ขวา แฮนด์จับโช้ค และปรับจากระบบคลัตช์น้ำมัน กลับมาใช้แบบสายที่ปัญหาน้อยกว่า

Related Articles

Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save