1933 Ariel Red Hunter LH
1933 Ariel Red Hunter LH
ปฐมบท “รถสปอร์ต พอร์ทคู่” จากบรมครู “วอล เพจ”
เจอ…กันอีกสักหนกับ เครื่องยนต์ 2 พอร์ท ไมล์บนถัง ท่อยก!!!…นี่คือ “รถเก๋า” จากค่ายเก่า “Motor Bike” ตลาดรถไฟศรีนครินทร์ มีโอกาสเข้าไปแทะโลมในระยะประชิด เพราะไม่ได้เป็นโมเดลที่ “เจนโสต” ผลผลิตยุคก่อนสงครามโลก (WW-II) ที่เอกอุจากประเทศมหาอำนาจด้านการเงิน “เบอร์มิงแฮม” คือฐานที่มั่นผลิตต้น “ปอนด์สเตอริง” ที่ผลิดอก ออกใบ…หนนี้…เราจะข้ามประตูเวลา กลับไปซับ “วิถีรุ่งฯ” ของ “นักล่าสีชาด” ผลงานการออกแบบจากบรมครู…วอล เพจ (Val Page)…!?!?!
เครื่องยนต์เสื้อเหล็ก ฝาเหล็ก รูปทรงสปอร์ต ทวินพอร์ทไอเสีย นี่แหละเอกลักษณ์ที่ Val Page สร้างสรรค์ 17 แรงม้า 249 ซี.ซี. พร้อมชุดเกียร์ 4 สปีดของ Burman ขุมกำลังบล็อกเล็กสุด รหัสเครื่องยนต์ LH (NH-350 ซี.ซี., VH-500 ซี.ซี.)
เรด ฮันเตอร์ (Red Hunter) คันแรกเกิดขึ้นหลังจากที่ Val Page จรดหมึกลงฉันทามติให้เข้าสายการผลิต ตอนนั้นเขารับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมออกแบบเครื่องยนต์สปอร์ตแบบ “ซิงเกิล โอเวอร์เฮดวาล์ว พอร์ทไอเสียคู่” ของโรงงาน ทว่า โปรเจ็กต์นี้แท้จริงคือการต่อยอดจากนักออกแบบชั้นครูอีกคนนาม Edward Turner (เอดเวิร์ด เทอร์เนอร์) ที่พักหลังแอบปันใจไปหาค่ายคู่แข่งอย่าง Triumph…1932 ผลงานรูปธรรมบล็อกแรกเกิดขึ้น และมีความจุของกระบอกสูบให้เลือกสรรมากถึง 3 พิกัด ทั้ง 250/350 และ 500 ซี.ซี. “สวยงาม ดูสปอร์ต แข็งแกร่ง และมั่นใจได้” คุณลักษณ์เด่นที่ถูกตั้งเป็นคอนเซ็ปต์งานออกแบบขุมกำลัง มาพร้อมฝาครอบวาล์ววัสดุอะลูมินัม ฝาโซ่ขับเคลื่อนชุดหน้า ท่อไอเสียยกพาดเหนือแคร้งค์เครื่องยนต์ รวมถึงถังน้ำมันชุบโครมเมียม ที่เว้นพื้นที่ตำแหน่งเหนือถัง และแก้มด้านข้าง ที่ฉาบทับด้วย “สีแดงหม่น” ที่กลายเป็นเอกลักษณ์จนที่มาของ “เรด ฮันเตอร์” (Red Hunter) ที่สวย แสบ ตั้งแต่ออกห้าง…เชื่อหรือไม่…?? ว่าเครื่องของ Red Hunter ทุกเครื่องยนต์…ก่อน…ได้รับการติดตั้งในโครงสร้างเฟรมหลัก จะต้องได้รับการทดสอบสันดาปจริงเป็นเวลาถึง 2 ชั่วโมงเต็ม เพื่อให้แน่ใจว่า มันจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างที่วิศวกรหวัง
ชุดหน้า Girder Front Forks คือศัพท์ช่าง บ้านเราเรียก “ขาไก่” เหล็กกลมขึ้นทรง รับแรงผ่านคานสวิง ที่ซัพด้วยคอยล์สปริงกลางแผงคอ
มุมมองจากผู้ขับขี่ รูปแบบเรียบง่ายของรถก่อนสงคราม ทว่า มันมีมนตร์ สวย ลงตัว ดูละเมียดตา
1933 น่าจะเป็นไลน์ผลิตแรกของรหัส LH ฝาไพรมารี่ยังเป็นเหล็กปั๊มขึ้นรูป ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้วัสดุอะลูมิเนียมในปี 1935
คลาสสิกด้วยการวางมาตรวัดบนถังน้ำมัน มีไมล์ สวิตช์หลัก (เปิดการทำงาน) เกจ์วัดแรงดันน้ำมันเครื่อง และฝาถังน้ำมัน (ซ้าย) พิมพ์นิยมของรถก่อนสงคราม เห็นได้จากมีการผลิตแทบจะทุกยี่ห้อ
“สปริงเปลือย” แบบฉบับของรถปีลึกยุคปี 33 ความคลาสสิกที่เผยให้เห็นการทำงานได้อย่างชัดเจน รถรุ่นสุดท้ายก่อนปี 35 จะออกแบบฝาวาล์วใหม่ เป็นวัสดุอะลูมิเนียมและครอบปิดทับไว้
Red Hunter ใช้งานได้เวิร์คทั้งในสถาะถนนทั่วไป และเส้นทางในแบบ Off Road เพราะการวางตำแหน่งของท่อไอเสียที่ยกพาดเหนือเครื่องยนต์ จะใช้เป็นรถใช้งาน ใช้เดินทาง หรือ ปรับแต่งเพื่อการแข่งขันก็เวิร์ค ภาพลักษณ์ของรถ “ไมล์กลางถัง” แบบการผลิตยุคต้นคือมนตร์เสน่ห์ที่ตรึงตรา มาพร้อมซัพหน้าแบบสปริงเกอร์ (Girder) หลังแข็ง (Solid) กับล้อขนาด 19 นิ้ว นี่คือพิมพ์พิสมัยที่ได้รับการผลิตต่อยอด…ถึงปี…1959…!?!?!
1933 Ariel Red Hunter LH
รถ / รุ่น Ariel / RED HUNTER LH 250
ปีผลิต 1933 (# DA 117)
เจ้าของ VINTAGE MOTORBIKE / ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์
เครื่องยนต์ OHV-Single 4 จังหวะ 2 วาล์ว 249 ซี.ซี. ก้านกระทุ้งวาล์ว
ระบายความร้อนด้วยอากาศ
แรงม้า 17 แรงม้า
ระบบไฟ แมกนีโต / ไดชาร์จ
ระบบเกียร์ 4 เกียร์ (ขวา)
ระบบคลัตช์ เปียก (หลายแผ่น อ่างน้ำมันเครื่องแยก)
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) สปริงเกอร์ / หลังแข็ง
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (ดุมเสี้ยวขนาด 7 นิ้ว (บนล้อ 3.25 x 19 นิ้ว)
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: https://en.wikipedia.org/wiki/Ariel_Motorcycles
: https://www.yesterdays.nl/ariel-1935-model-lh-250-cc-ohv-p-865.html
STORY : SCOOTER MANIA! / PHOTO : GOLFY GPI. Photo Dep.
ขอขอบคุณสถานที่ : ตลาดรถไฟศรีนครินทร์