1936 Indian Chief
1936 Indian Chief
ชิฟ “สายสลิม” เส้นต้องหวาน งานต้องละมุน
สวยละมุนตาในแบบ “สลิมชิฟ” บางๆ เบาๆ กับการจัดวางเส้นสายโค้งเว้าตั้งแต่หัวจรดท้าย นี่แหละศิลปะที่เกิดในยุคของ ART & DECO โสตแรกต้องโดนเลย แล้วเรื่องสมรรถนะค่อยตามมา
จำได้ว่า ปีก่อนเจอ “ชิฟ’46” ยุคหลังสงคราม ความสวยระดับมาสเตอร์พีซด้วยรถ “กระโปรงบาน” คือภาพลักษณ์ที่เด่นตา…ไปครับ!!! ต่อเนื่องด้วยผลงานดีกรีความเอกอุระดับหัวม้วน “ชิฟ’36” รถเครื่องใหญ่ ไซซ์สลิม ศิลปะ “ยุคอาร์ต แอนด์ เดคโค” (Art & Deco) คืออลังการงานศิลป์ที่ได้รับการถ่ายทอดบนมิติของยานยนต์แบบ 2 ล้อ “อินเดียน” สนองโสตด้วยมิติของงานดีไซน์ที่เด่นเรื่องของ “เส้นสาย” ที่หยาดเยิ้ม ละมุนตา ไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะชั้นครูที่หลุดออกจาก…กรอบเฟรม…!?!?!
หน้าขาไก่ ซับแรงด้วยคานสวิงผ่านแผ่นแหนบ พิมพ์เขียวนิยม “ความเก๋า” ที่ Indian เลือกแล้วว่ามันเวิร์คและเป็นเสมือนลายเซ็นที่ติดตัว
Indian โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ “แบรนด์ต้น” ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1901 ใน Springfield รัฐ Massachusetts รถ “จักรยานยนต์คันแรก” เครื่องยนต์ 288 ซี.ซี. ก็ได้โลดแล่นบนท้องถนน…Indian พัฒนาและออกแบบรถจักรยานยนต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อการใช้สอยในประเทศอย่างกว้างขวาง ด้วยพิมพ์เขียวโครงสร้างเฟรม “หน้าแหนบ หลังแข็ง” กับเครื่องยนต์บล็อกใหม่แบบ V-Twin ทำมุม 42 องศาที่พัฒนาความจุขึ้นถึง 1,000 ซี.ซี. (61 คิวฯ) ก็เกิดขึ้นในปี 1907 นี่เอง มันแจ้งเกิด และกลายเป็นสัญลักษณ์ของ Indian ไปโดยปริยาย ในขณะที่คู่แข่งนาม Harley-Davidson ที่ดูเหมือนจะเป็น “พระรอง” ในตอนต้น แต่ด้วยรูปแบบการผลิต สมรรถนะ หน้าตา เครื่องยนต์ที่ใกล้เคียงกัน “ทั้งคู่” กำลังดวลหมัดกันสนุกมือ โดยหวังให้ “ผู้บริโภค” ในท้องตลาดเป็นผู้…ตัดสิน!!!
แตรอินเดียน หรือชุดแหนบ เครื่องหมายการค้าข้างถัง เริ่มที่จะใช้รูป “หัวหน้าเผ่า” มาเสริมเรื่องงานออกแบบตั้งแต่ปี 1928 แทนอักษร “INDIAN” ดุ้นๆ
ชื่อของ Chief เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1922 จากฝีมือนักออกแบบและสร้างสรรค์นาม Charles B. Frankin วิศวกรและนักแข่งสายเลือดไอริช Chief เลือกใช้ขุมพลังที่ขนาด 61 คิวฯ (1,000 ซี.ซี.) และขยายความจุนั้นอีกครั้งเป็น 74 คิวฯ (Indian Big Chief 1,200 ซี.ซี.) ในปี 1928 หลังจากนั้น ไม่มีใครเชื่อว่า Indian จะ “ถังแตก” กิจการส่วนใหญ่ถูกขายให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่นาม E Paul DuPont ที่เข้ามากุมบังเหียน Indian เริ่มมีการใช้เครื่องหมายการค้ารูป “หัวหน้าเผ่า” ในปี 1934 และติดตั้งไว้ที่บริเวณด้านหน้าของบังโคลน และแก้มซ้าย/ขวาของถังน้ำมัน ซึ่งถือเป็นรถเจเนอเรชันที่ 2 ที่ยังคงยึดโครงสร้างแบบ หน้าแหนบ หลังแข็ง เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่งานวิศวกรรมนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องรอง “สุนทรียโสต” ได้รับการโฟกัส สวยขนาดไหน มันต้อง…หยาดเยิ้ม เส้นสายที่อ่อนช้อย ละมุนในทุกพิศ ไม่เฉพาะ “อินเดียน” คู่แข่งอย่าง “ฮาร์เล่ย์ฯ” ก็นำเสนอแนวทางนี้ให้เห็นในท้องตลาดด้วย
มิติที่น่าหลงใหลของอินเดียน บาร์ และตำแหน่งของอุปกรณ์ต่างๆ ที่แสดงผลเหนือถังน้ำมัน แอมป์วัดไฟชาร์จ สวิตช์หลักเครื่องยนต์ ไมล์ขับล้อหลัง และตำแหน่งของ 3 ฝาชนถังน้ำมัน (บนขวา) คือตำแหน่งของ OIL ที่เหลือ FUEL
1940 Indian มาถึง “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญ (เจเนอเรชันที่ 3) ทุกโมเดลที่ผลิตออกจากโรงงาน เลือกใช้โครงสร้างแบบ “หน้าแหนบ” (Leaf-Spring) ที่ผนวกเข้ากับระบบซับแรงหลังด้วย “โช้คสไลด์” (Plunger) ที่มาพร้อมหน้าตาของบังโคลน “กระโปรงบาน” (Skirted Fender) ความล้ำสมัยนี้ โดดเด่น เตะตา ขับขี่สบายระดับเดอร์ลุค มันอวดโฉมต่อสาธารณชนจน…ตื่นตะลึง!!! กระทั่ง “คู่แข่ง” เองยังยอมรับ เพราะ ณ เวลานั้น Harley-Davidson ยังคงใช้เฟรมแบบหลังแข็ง (Rigid) อยู่เลย…ทว่า ก็มาไม่ถูกจังหวะอีกเช่นเคย อเมริกาจับมือยุโรป ประกาศตัวเข้าภาวะสงครามโลก (ครั้งที่ 2) อย่างเต็มตัว ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะ Indian ใช้วัตถุดิบ-กระบวนการผลิตที่ซับซ้อน เป้าหมายทางการตลาดที่วาดหวังไม่เกิดผล เศรษฐกิจโลกก็ถดถอย แถมคอนแท็คกับ “ภาครัฐ” ถูก Harley-Davidson ตัดหน้า ไลน์ผลิตถูกดร็อป รถรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการหยิบจับของเก่าๆ ที่มีอยู่ในโรงงานมายำรวม…Indian ต้องภาวนาหวังให้สงครามยุติโดยเร็ว!!!
เครื่องยนต์ V-Twin 42 องศา 4 จังหวะ 1,210 ซี.ซี. (74 คิวฯ) 24 แรงม้า ที่สามารถทำความเร็วสูงสุดในยุคนั้นคือ 90 mph. (144 กม./ชม.)
ฝั่งไพรมารี่ ก้อนเครื่องอะลูมิเนียม กลไกตัดคลัตช์ กับแป้นวางเท้าทรงเหลี่ยม (ยาว) ลายกันลื่นด้วยแผ่นยาง
สิ้นสงคราม Indian กลับมาทำตลาดอีกครั้ง แบบพิมพ์จากก่อนสงครามได้รับการปัดฝุ่น Chief (เจเนอเรชันที่ 4) กับภาพลักษณ์ หน้าสปริงเกอร์ (จากรุ่น Military 841) โช้คสไลด์ กระโปรงบาน มีชีวิตชีวาอีกครั้งในปี 1946 (1946-1948) มันสวยสุด แถมยังวิ่งอีกต่างหาก ก่อนมาถึงยุค1950 Chief (เจเนอเรชันที่ 5) จะได้รับการอัปขนาดด้วยเครื่องยนต์มากความจุที่ 80 คิวฯ (1,311 ซี.ซี.) ที่มาพร้อมระบบโช้คอัพหน้าแบบ “เทเลสโคปิก” ที่นิ่มนวล และได้สรรพนามต่อท้ายเก๋ๆ ว่า…โรดมาสเตอร์ (Road Master) อย่างไรก็ตาม… “ตัวเลข” ทางการตลาดกลับไม่กระเตื้อง อีกครั้งที่ Indian ประสบปัญหา “การเงิน” อย่างหนักหน่วง…สุดท้าย…ก็ต้องถอนทัพ “ปิด” โรงงานธรรมเนียมเดิมๆ อย่างเป็นทางการ กิจการทั้งหมดถูกแชร์ร่วมกับ Royal Enfield แบรนด์ผู้ผลิตจากอังกฤษในปลายปี 1953…รถลูกผสมหน้าตาแปลกๆ ก็เกิดขึ้น ทว่า ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค…เอาซะเลย…!?!?!
เกียร์มือ (Hand Shift) แบบ 3 สปีด
เฟรมหลังแบบ Rigid Frame ไม่มีระบบแอบซอร์บใดๆ ซับนิ่มที่เบาะแทน โซ่ขับขวา และตำแหน่งของมือลิงเบรกที่ทำงานผ่านช่องเฟรม ตำแหน่งยึดแกนล้อเลย มันจึงดูละมุนตา
1936 Indian Chief
รถ INDIAN
รุ่น / ปี CHIEF / 1936
เจ้าของ RAIVA’30 GARAGE
เครื่องยนต์ SV. V-Twin 42 องศา 4 จังหวะ 1,210 ซี.ซี. (74 คิวฯ)
24 แรงม้าที่ 4,000 รอบ / นาที
กระบอกสูบ / ช่วงชัก 83 / 113 มม.
ระบบไฟ จานจ่าย 6 V. / (แสงสว่างไดชาร์จ)
ระบบเกียร์ 3 สปีด (เกียร์มือ / คลัตช์เท้า)
ระบบคลัตช์ แห้ง (หลายแผ่น)
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) แหนบ / หลังแช็ง
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (ดุมเสี้ยวม็ม้H) บนล้อขนาด 18×4.5 นิ้ว
ฐานล้อ 60.15 นิ้ว (1,540 มม.)
ความเร็วสูงสุด 90 mph. (144 กม./ชม.)
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: https://en.wikipedia.org/wiki/Indian_Chief (motorcycle)
STORY : NuiAJS
PHOTO : Kwang GPI.Photo Dep.