1947 Triumph Speed Twin
1947 Triumph Speed Twin
พิมพ์เขียวสั่งลา “รถรุ่นท็อป” หลังแข็ง หัวลอย ไมล์กลางถัง
“สวยจัด” ศัพท์รุ่นที่ยกเครดิตให้เจ้าของรถ “วินเทจ” ที่เก็บงานได้เนี้ยบเหมือนหลุดจาก โบรชัวร์โรงงาน “บังซัค วิทยา” ชื่อนี้เจนโสตในสาย “รถเก๋า” จาก BSA A10…Triumph T-BIRD ถึง Speed Twin ซึ่งการณ์นี้คือ Speed Twin “ไมล์กลางถัง” รถรุ่นท็อปที่หาเสพไม่ง่าย…ในสยาม!!!
ฝาไพรมารี่ยาว แบบฉบับของรถยุคเก่า ฝาอะลูมิเนียมหล่อขึ้นรูป ช่วยให้รถแลดูยาว งานออกแบบที่เป็นลายเซ็นต์ของ Turner เลยทีเดียว
ไลน์การผลิตบล็อกเครื่องยนต์รหัส 5T Speed Twin “เสื้อเหล็ก-ฝาเหล็ก” ขนาด 500 ซี.ซี. “เกียร์แยก” นั้น อยู่ในช่วงปี 1938-1958…นี่คือโสตแรก…รถหน้าสปริง หลังแข็ง ไมล์บนถัง ไลน์ผลิตพาณิชย์รุ่นที่ขายดีที่สุดของ Triumph มันสร้างฐานะการเงินให้โรงงานแห่งนี้มั่งคั่ง ทว่า กลับต้องมาสะดุดหลังจากสภาะสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มก่อตัว…สิ้นสงคราม…รถเจนท์ที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนหลังขายการให้กับกลุ่ม BSA…รถหน้ากระบอก หลังแข็ง ไมล์บนถัง ยังได้รับการผลิต และสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ระยะหนึ่ง…ก่อนที่…รถเจนท์ 3 หน้ากระบอก ซัพหลังสวิงอาร์ม หัวไอ้โม่ง จะถือกำเนิดขึ้นในปี 1954 ท่ามกลางกระแสตลาดโลกที่ยังคงไร้เสถียรภาพ กระบวนท่าทางธุรกิจใหม่ๆ ถูกดึงมาใช้หวังกู้สถานการณ์ที่เข้าขั้นเปราะบางพร้อมแตกหัก
เครื่องยนต์เสื้อเหล็ก-ฝาเหล็ก ความจุ 498 ซี.ซี. บนมิติห้องเผาไหม้ขนาด 63×80 มม. ขุมพลังขนาดกลางที่พัฒนาขึ้นและใช้ยาวนานมาตั้งแต่ปี 1938
เพราะเป็นรถฟอร์มจากปีลึก “ดุมหน้า” แบบเสี้ยวขนาดเส้นผ่าศูนบ์กลาง 7 นิ้ว
1947 Speed Twin โมเดลหลังสงครามยังคงได้ “พิมพ์เขียว” การผลิตจากรถปี 1938 อยู่ไม่น้อย ทว่า มันปรับเปลี่ยนโช้คอัพหน้าแบบกระบอกไฮดรอลิกและเสาเครื่องยนต์แบบ 8 เสา หลังจากได้รับการพัฒนาในส่วนของแรงอัดที่เพิ่มขึ้น เครื่องยนต์จุดระเบิดด้วยแมกนีโต ที่ได้พลังงานเลี้ยงเครื่องยนต์จากชุดไดชาร์จที่เลือกวางไว้ด้านหน้าของเครื่องยนต์ ด้วยฟอร์แมตแบบรถ “หลังแข็ง หัวลอย ไมล์บนถัง” ที่ติดตั้งมาตรวัดไว้อย่างครบครัน อาทิ สวิตช์ปิด/เปิดแอมป์วัดไฟชาร์จ เกจ์แรงดันน้ำมันเครื่องยนต์ และสวิตช์ไฟสูง-ต่ำ (ทว่า มีออปชันแบบโช้คดุม Sprung Hub ให้เลือกสรรด้วยในปี 1947)
มุมมองที่เรียบหรู บาร์แบบปีกนก ปลายเชิดนิดๆ ช่วยให้ท่านั่งของผู้ขับขี่ดูภูมิฐาน กับตำแหน่งของงานจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ลงตัว สวยงามแบบฉบับอังกฤษพันธุ์แท้ กะโหลกไฟหัวลอย 6 นิ้วจับยึดเบ้าที่หูช้าง
Speed Twin โมเดลปี 1947 ถือเป็นแบบการผลิตสุดท้ายสำหรับรถคลาสสิกธรรมเนียมเดิมๆ ที่ใช้กันมายาวนาน…1949 ถังน้ำมันซีรีส์ใหม่ก็เกิดขึ้น (ความจุ 4 แกลลอน) มันมาพร้อมกับหัวไฟในกรอบแบบใหม่ที่เราเข้าใจตรงกันว่า “หัวไอ้โม่ง” ซึ่งแบบการผลิตนี้ได้รับการปรับใช้กับรถทุกคันในไลน์ผลิตทั้ง 5T/T100 จุดเปลี่ยนเรื่องหน้าตาที่ดู “สปอร์ต” ขึ้น ดูจะเป็นแนวทางหลักที่ทีมออกแบบเลือกสรร อย่างไรก็ตาม Speed Twin “รถเสื้อเหล็ก-ฝาเหล็ก” ก็ยังถือเป็นรถเครื่องยนต์ขนาดกลางเท่านั้น…และ…ด้วยเป้าหมายทางการตลาดใหม่ ที่ต้องการ…เล็ง!!!…ยอดขาย “นอกประเทศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาด “อเมริกา” ที่ต่างพิlมัยเครื่องยนต์บล็อกใหญ่ๆ ขนาดความจุ 650 ซี.ซี. ขึ้นไป แนวทางนี้จึงทำให้บล็อกเครื่องยนต์รหัส 6T/T110 (Thunder Bird/Tiger110) กลับมาอยูในความสนใจ…ส่วน…Speed Twin ก็เป็นเพียงรถที่จำหน่ายเพื่อประคองยอดขายเท่านั้น จาก…หลังแข็ง…โช้คดุม…ถึง “สวิงอาร์ม” มันทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ต่อไปได้ถึงปี 1958 ไลน์ผลิตเครื่องยนต์ 5T ก็ต้อง…ถูกยุบ!!!…กระนั้น…เราก็ยังมีโอกาสได้เห็น Speed Twin กลับคืนมาอีกครั้ง ทว่า คราวนี้มันกลายร่างเป็นรถหน้าตาประหลาด บนภาพลักษณ์บังโคลนหลังบานๆ เครื่องยนต์ “เกียร์รวม” รหัส 5TA ในปี…1959 แทน…โอ้! มาย ก๊อด…!?!?!
ไมล์กลางถัง “พิมพ์เขียว” ที่ถ่ายทอดมาจากปี 1938 (ซ้าย) แอมป์วัดไฟ (ขวา) เกจ์วัดแรงดันน้ำมันเครื่อง (ล่าง) สวิตช์เปิดไฟหน้า และ (บน) คือไฟอเนกประสงค์สำหรับงานเซอร์วิสในเวลากลางคืน สายไฟมีความยาวพอประมาณ ส่องตรงไหนก็โยงลากไปใช้
ระบบไฟจุดระเบิดด้วยแมกนีโต ปั่นเลี้ยงเครื่องยนต์ด้วยไดนาโม
1947 Triumph Speed Twin
รถ / รุ่น Triumph / 5T Speed Twin
ปีผลิต 1947
เจ้าของ บังซัค วิทยา
กระบอกสูบ/ช่วงชัก 63 x 80 มม.
ปริมาตรกระบอกสูบ 498 ซี.ซี.
กำลังอัด 7:1
ระบบไฟ แมกนีโต / 6 V.
ระบบเกียร์ 4 เกียร์ (ขวา)
ระบบคลัตช์ แห้ง (หลายแผ่น / ใช้ไอน้ำมันเครื่องเลี้ยง)
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) เทเลสโคปิก / หลังแข็ง
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (ดุมเสี้ยว ขนาด 7 นิ้ว)
ขนาดยาง (หน้า/หลัง) 3.25 / 19- 3.50 / 19
ความจุเชื้อเพลิง 3 ¼ แกลลอน
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: TRIUMPH TWIN RESTORATION / Roy Bacon
แบบฉบับของเฟรม “หลังแข็ง” กับงานจัดวางชิ้นส่วนต่างๆ สวยลงตัวในแบบที่คุ้นตา
ท่อไอเสียของรุ่นปีลึก ป่องกลาง รีดเสียงให้ทุ้มนุ่มหู เอกลักษณ์สะท้านนิดๆ ของรถเสื้อเหล็ก
ไฟท้ายกลมเล็ก Lucas กับแผ่นป้ายทะเบียนจอบ เอกลักษณ์ที่คุ้นตา
“ซัค วิทยา” คนนี้ทำรถสวยจัด แต่ละคันในอาณัติการันตี กริ๊ป…แบบออกห้าง!!!
Story/Photo : : nuiAJS