1960 MZ ES300
1960 MZ ES300
ล่า “ปลาวาฬ” ES 300 “คันเดียว” ในไทย
“บ๊อบ ซิกซ์เดย์” ชื่อนี้แน่วในแนวทาง “ปลาวาฬ” ที่ออกลั่นในสยามมาสักพักใหญ่ จัดต่อกับคิวรถ สีเดิม ไฟเดิม อะไหล่เดิม “ดัชนีความสด” ที่คนเล่น “รถเก๋า” เขาให้เครดิต รถเดิมๆ แถม “เครื่องใหญ่” แบบนี้ก็ต้องสู้ขาดใจ ไอ้เราก็จัดอย่างไว สำหรับเจ้า ES 300 ที่กระแสแรงมา…ว่า…คันเดียว…ในเมืองไทย!!!
Auto Union กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ระดับหัวแถวของ “เยอรมนี” เฟืองจักรตัวสำคัญที่กำลังรุ่งโรจน์ในยุคปี 1916-1930 ไลน์ผลิตที่มีเทคโนโลยีจากอากาศยานคือแม่บทที่แตกยอดสู่ยานยนต์แบบ 4/2 ล้อในตลาดโลก ใครจะเชื่อจากเจ้าพ่อ “โลกธุรกิจ” ถึงพี่ใหญ่ “สายอักษะ” เยอรมนีอาสานำทัพเปิดศึก “สงครามโลกครั้งที่ 2” …ก่อน…ยอม “ยกธง” ในปี 1945 เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง กลุ่มของ Auto Union จำต้องระเห็จกันไปคนละทิศทาง “พิมพ์เขียว 2 ล้อ” ถูกแบ่ง IFA ยังคงสร้างแบรนด์การค้าในเยอรมนีตะวันออก (East Germany) ในขณะที่ DKW ต้องย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่เมือง Zschopau เยอรมนีตะวันตก (West Germany) แบรนด์การค้าทั้ง DKW และ MZ คือใบเบิกทางที่พร้อมกลับมาทำตลาดอีกครั้ง
“ปลาวาฬ” บ้านเราเรียกแบบนั้น จากหน้าตาถึกๆ ล่ำๆ ดูเชื่องช้า ทว่า คันนี้เครื่องยนต์ 300 ซี.ซี. วิ่งระเบิดเลย แต่ก็กินน้ำมันใช่ย่อย คันนี้ สวย เดิม อาชาคันล่าสุดในอาณัติของ “บ๊อบ ซิกซ์เดย์”
ช่วงหน้าถึกๆ กับระบบซัพแรง Leading link Forks ที่เป็นเอกลักษณ์ นุ่มนวลดี แต่เร็วๆ จะเกิดอาการชก ES 300 ยังใช้พาร์ทรวมกับรุ่น 250 ทว่า ปีลึกยังคงใช้กระทะล้อแบบเหล็ก ขนาด 18 นิ้ว
MZ-ES 175 : (1957-1972) เปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 1956 และทำการผลิตควบคู่กับเครื่องยนต์ขนาด 250 ซี.ซี. ซึ่งดูจากภายนอกนั้นแทบไม่เห็นความแตกต่างอะไรเลย มีเพียงมิติที่มองจากด้านข้างเท่านั้นที่พอจะเห็นว่า MZ-ES 175 นั้น ดูจะแคบกว่าเพียงเล็กน้อย เพราะชิ้นส่วนโครงสร้างหลักและชิ้นส่วนประกอบที่ออกแบบมาให้ใช้ด้วยกัน เหตุผลนี้ที่ทำให้โครงสร้างเฟรมของ MZ-ES 175 นั้น ดูจะหนักเกินความพอดี ทว่า หากมองในเรื่องต้นทุนการผลิต ทีมออกแบบกลับเห็นว่ามันคุ้มค่า เครื่องยนต์บล็อก MZ-ES 175 ได้รับการอัปเกรด เสื้อสูบ ลูกสูบ และฝาสูบ กับขนาดของช่วงชักถูกขยาย รวมถึงพัฒนาระบบคลัตช์ เกียร์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รถโมเดลแรกนี้ใช้ชื่อการผลิตอย่างเป็นทางการว่า ES 175/0
เครื่องยนต์ที่พัฒนาจากรุ่น ES250/1 เผินๆ คล้าย แต่ข้างในรื้อใหม่หมด ข้อเหวี่ยง, ลูกสูบ, เสื้อสูบ, ฝาสูบ รวมถึงคาร์บูเรเตอร์ ทว่า สุดท้ายมันกลับเกิดปัญหาเรื่องอาการ “สั่นสะท้าน” ที่ส่งตรงผ่านเฟรมขึ้นมา จนต้องหยุดการผลิตในปี 1964
ES 175/1 ส่งออกจากไลน์การผลิตในปี 1962 ซึ่งยังคงแบบการผลิตจากรุ่นดั้งเดิม ทว่า เลือกหยิบเอาชุดไฟท้ายจากรุ่น ES125/150 กลับมาใช้ และพัฒนาจนได้กำลังเครื่องยนต์สูงสุดที่ 12 แรงม้า (ES 175/0 10 แรงม้า) ระบบการทำงานที่เปี่ยมประสิทธิภาพ ชุดคลัตช์ ระบบไหลเวียนน้ำมันเครื่อง สลักข้อเหวี่ยง รวมถึงระบบเกียร์ (สามารถติดตั้งไซด์คาร์ได้) ก็เป็นชิ้นส่วนที่แชร์มาจากรุ่น ES 250/1 ก่อนมีการพัฒนาเพิ่มอีกครั้งในโมเดลปี 1967 ในนามของ ES 175/2 ที่ได้กำลังเครื่องยนต์เป็น 14.5 แรงม้า ทว่า ผลิตจำหน่ายเฉพาะใน “ยูโกสลาเวีย” และ “บัลกาเรีย” เท่านั้น
กะโหลกไฟติดกับส่วนของถังน้ำมัน ทว่า ยังไม่เลี้ยวตามแฮนด์ “จุดบอด” ที่กลายเป็น “เอกลักษณ์” เพราะมีเส้นคิ้วมิเนียมซ้าย/ขวา ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเหงือกปลาวาฬที่เป็นนิคเนม มุมมองมันจะเชยๆ แต่มีเสน่ห์
MZ-ES 250 : (1956-1973) เปิดตัวครั้งแรกในปี 1956 ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ผู้คนไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อรถยนต์มาใช้ MZ-ES 250 คือความลงตัวที่เป็นทางเลือกในท้องตลาด ขนาดของเครื่องยนต์กำลังดี การบำรุงรักษาและใช้สอยเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่แปลกใจเลยที่ทำไมยอดการผลิตเครื่องยนต์ของ MZ-ES 250 จึงมีมากถึง 150,000 เครื่องยนต์ในปี 1962 นี่คือรถ “ยอดนิยม” ที่สร้างกำไรให้ MZ ได้จดจำ ทว่า “ข้อท้วงติง” หนึ่งที่ทำให้ต้องขบคิด ถังน้ำมันที่ถูกเชื่อมต่อเสมือนชิ้นงานเดียวกับกะโหลกไฟส่องสว่าง มัน “ไม่เลี้ยว” ตามองศาของแฮนด์ มักจะก่อเกิดอุบัติเหตุในเวลาค่ำคืน กระนั้นทีมออกแบบก็สวนกลับทันควัน มันเป็นความลงตัว “ระดับแอดวานซ์” ช่วยให้ระบบสายไฟต่างๆ ไม่มีการบีบพับ เสียดสี กระทั่งพันกันจนยุ่งเหยิง ตอบโจทย์ที่ช่วยยืดอายุการใช้งานและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง มันเพียงพอที่ทีมออกแบบจะยึดถือปฏิบัติ แม้กระทั่งรุ่น MZ-ES 250/2 ที่ผลิตตามออกมา ก็ยังใช้คุณลักษณะนี้ เป็นเพียงแต่มีการปรับแต่งกะโหลกไฟหน้าใหม่ให้ดูทันสมัยมากขึ้น
ถังน้ำมันขนาดใหญ่ขึ้น สีเดิมโรงงาน เส้นสันถังยังสวย โลโกหางโค้ง และยางแก้มถังพิมพ์นิยม
เผินๆ คล้าย ES 250/1 แต่เด่นที่กระเป๋าข้างใหญ่ เสื้อสูบ 14 ครีบ คันนี้ได้กระเป๋าท้ายทัวริ่ง หายากสุดๆ มาครบคู่ แถมสภาพดีมากๆ เรียกว่าอลังการงานสร้างจริงๆ
MZ-ES 300 : เปิดตัวต้นยุค’60 จากเหตุผลที่ต้อง “รักษาตลาด” เดิมเอาไว้ให้ได้ ทว่า ไลน์ผลิตโรงงาน “รถเครื่องใหญ่” กำลังไปได้สวย MZ ออก BK 350 เครื่องยนต์แบบ Boxer, Simson Sport ก็ขยับเครื่องยนต์เป็น 425 ซี.ซี. ในขณะที่ IFA ก็คลอด EMW R35 เล่นกันขนาดนี้ก็เป็นคิวของ ES ที่อยู่เฉยไม่ได้ ES 300 หยิบจับเครื่องยนต์ ES 250/1 มาพลัสไซซ์ บนปริมาตรกระบอกสูบที่ 72×72 มม. ทว่า มันยังไม่พอที่จะทำให้ “แรงบิด” เพิ่มขึ้นได้ ต้องยกยวงทั้ง ข้อเหวี่ยง, ลูกสูบ, เสื้อสูบ, ฝาสูบ รวมถึงคาร์บูเรเตอร์ ทว่า สุดท้ายมันกลับเกิดปัญหาเรื่องอาการ “สั่นสะท้าน” ที่ส่งตรงผ่านเฟรมขึ้นมา กระนั้น ถึงแม้ ES 300 จะผลิตเพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่คุณภาพแบบนี้ก็ต้องโดนติติง ทำให้ต้อง “หยุดผลิต” ชั่วคราวในปี 1964 เพื่อปรับปรุงคุณภาพอีกครั้ง ก่อนกลับมาผลิตส่งออกอีกครั้งในปี 1966 ในรุ่น ES 300/2 ซึ่งสร้างยอดขายรวมได้ถึง 7,865 คัน ทว่า ก็น่าเสียดาย แผนงานถูกปรับเปลี่ยน ไลน์ผลิตรถส่วนใหญ่ถูกเบนเข็มกลับมาสู่รุ่น 175/250 ซี.ซี. แทน…!?!?!
เบาะยาง MFM พร้อมเบาะเบิ้ลสีแดงหม่น ตัดกับสีของบอดี้ ลูกเล่นที่เปิดออก เป็นถาดเก็บของด้านใต้ อเนกประสงค์จริงๆ
1960 MZ ES300
รถ / รุ่น MZ ES 300
ปีผลิต 1960-1964 (เริ่มอีกครั้งในปี 1966)
เจ้าของ บ๊อบ ซิกซ์เดย์
เครื่องยนต์ ซิงเกิล 2 จังหวะ ระบายความร้อนด้วยอากาศ
ความจุเครื่องยนต์ 293 ซี.ซี.
แรงม้า 18.5 แรงม้า
ระบบไฟ ฟีลคอยล์
ระบบเกียร์ 4 เกียร์
ระบบคลัตช์ เปียก (หลายแผ่น)
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) คานสวิง โช้คซัพ (Leading link Forks) /
สวิงอาร์ม โช้คน้ำมันไฮดรอลิก
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (บนล้อ 3.50×18 นิ้ว)
น้ำหนัก 153 กก.
ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: https://de.wikipedia.org/wiki/MZ_ES_175/250/300
STORY : NuiAJS /
PHOTO : Kwang GPI.Photo Dep.