1960 Velocette Venom
1960 Velocette Venom
อสรพิษทมิฬ อานิสงส์พิมพ์เขียว “รถสนาม”
โสตแรก…ที่มีโอกาสได้ปะหน้ากันจังๆ ก็ครั้งนี้ “ซี้เก่า” สายดอนเมือง ส่งเทียบเชิญแบบไม่ต้องรอคำตอบ ทีมงานขยับวันทิ้งดีลอื่นๆ เพื่อสานงานเด่น ที่เก่า เวลาเดิม “จัดให้” สายรถแปลก รถแหวกสยาม นี่คือทายาทรถแข่งสูบเดียวที่สามารถทำท็อปสปีดได้ถึง 100 ไมล์/ชม. ในปี 1955 ความพยายามนี้บังเกิดผล และแตกยอดให้ชมกันหลายโมเดล ทว่า หนนี้ Venom คือ…พระเอก…!?!?!
เครื่องยนต์สูบเดี่ยว ความจุ 499 ซี.ซี. 34 แรงม้า @ 6,200 รอบ/นาที นี่คือขีปนาวุธยุค’50 ที่สามารถทำความเร็วได้สูงถึง 100 ไมล์/ชม. และถือเป็นรถพาณิชย์ที่ได้อานิสงส์ความเป็นรถสนามออกมาได้มากที่สุด
Venom (วีนอม) คือรถรุ่นใหม่ที่พัฒนาเครื่องยนต์แบบซิงเกิลขนาด 499 ซี.ซี. ที่เกิดขึ้นจากโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์เครื่องหมายการค้าของ Vellocette (เวโลเซท) ที่มีฐานการผลิตหลักอยู่ที่เมือง Hall Green ใน Bermingham เครื่องยนต์แบบสูบเดี่ยวที่พัฒนาขึ้นจากรถแข่ง จึงมีไลน์ผลิตไม่มากนัก เพราะจากปี 1955-1970 มีจำนวนเพียง 5,721 เท่านั้น
พฤศจิกายน 1955 หลังจากที่เปิดตัวเครื่องยนต์สปอร์ตขนาด 349 ซี.ซี. ในนามของ Viper (ไวเปอร์) อสรพิษคันใหม่ที่สร้างขึ้นจากข้อมูลที่เก็บได้จากรายการแข่งขันในนามของรุ่น MSS เพราะเชื่อมั่นว่ารถแบบ “ซิงเกิล” นี้ จะสามารถต่อกรกับรถแข่งแบบ 2 สูบแบรนด์อื่นๆ ได้ โปรเจ็กต์ใฝ่สูงนี้จึงได้แรงหนุนจาก Eugene Goodman ผู้ก่อตั้งบริษัทและดีไซเนอร์คู่บุญอย่าง Charles Udall ก็พร้อมสานต่องาน และแล้ว Venom เครื่องยนต์ซิงเกิลความจุ 499 ซี.ซี. ก็เกิดขึ้น พร้อมกับคุณสมบัติพิเศษที่ได้ 2 วัสดุดิบมาใช้ในส่วนของเครื่องยนต์ โดยใช้ปลอกลูกสูบแบบเหล็ก ร่วมกับเสื้อสูบ-ฝาสูบ ที่ใช้วัสดุอะลูมิเนียม มันเบา ทว่า ทนทานต่อความร้อนและแรงอัดขนาดมหาศาลที่เกิดขึ้น ในขณะที่ก้านกระทุ้งวาล์วมิติที่สั้นก็ช่วยให้การทำงานแม่นยำขึ้นด้วย
เฟรมท่อกลม สวิงอาร์มเหลาเรียว คุณสมบัติโครงสร้างพิเศษที่สร้างจากโรงงานผลิตจักรยานเก่าแก่ของอังกฤษ
ดุมหน้าแอโร่ มือลิงเบรกคู่ พัฒนาขึ้นให้รับกับกำลังเครื่องยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น
ภาพลักษณ์ของ Venom นั้น โดดเด่นที่หน้าตาของรถรูปทรงสปอร์ต มีส่วนบังโคลนสีโครเมียมตัดกับงานสีบอดี้สีดำทะมึนที่เขียนเส้นสายของถังน้ำมัน “สีทอง” และสำหรับ Sport Model ปี 1960 นั้น แปลกตาด้วยส่วนของแฟริ่งที่ออกแบบสำหรับครอบเครื่องยนต์ ที่สามารถถอด/ใส่ได้อย่างง่ายๆ วัสดุน้ำหนักเบานี้สร้างจาก “ไฟเบอร์กลาส” เป็นนวัตกรรมที่ Vellocette พัฒนาร่วมกับ AVON ทว่า ความตั้งใจดีนี้แต่กลับไป…โดน!!! มันไม่ได้รับความนิยมเอาเสียเลย
เพราะเป็นรถช่วงชักยาว สูบโต แรงอัดสูงๆ ชุดยกวาล์วไล่แรงอัดก่อนสตาร์ตเครื่องยนต์ จึงได้รับการติดตั้ง เพื่อให้การสตาร์ตทำได้นุ่มนวลขึ้น
Venom กะโหลกไฟจับหูช้าง มีแผ่นเหล็กปิดครอบด้านบน เจาะช่องวางไมล์, แอมป์ และสวิตช์ไฟสูง/ต่ำ
ความพิสดารนี้ยังรวมถึงการที่ Venom นั้น วางส่วนของ “ชุดคลัตช์” ไว้ระหว่าง “ชุดเกียร์” และ “เฟืองสเตอร์” ที่ส่งกำลังไปยังโซ่ โดยมันช่วยให้สามารถเซอร์วิสได้ง่าย และสามารถปรับเปลี่ยนเฟืองเกียร์ขนาดต่างๆ ได้รวดเร็ว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับงานปรับแต่งสำหรับการแข่งขัน เฟรมของ Venom นั้น ถูกสร้างขึ้นในแนวที่เบสิกที่สุด โดยเฟรมท่อนบนแบบท่อเดี่ยว ซึ่งถูกออกแบบตามแนวคิด Brazed-lug Frame “เฟรมเข้าท่อ” ที่ออกแบบจากโรงงานผลิตรถจักรยานดั้งเดิมของอังกฤษ และมันไม่ธรรมอีกสำหรับส่วนของสวิงอาร์มหลัง ซึ่งซัพแรงด้วยโช้คอัพแบบไฮดรอลิกคู่ของ Girling ตำแหน่งจุดยึดหัวโช้คเข้ากับเฟรมที่มีแผ่นเหล็กเจาะรูทรงโค้งประคอง สำหรับเลื่อนปรับองศาการซัพแรงซัพได้ตามน้ำหนักและรูปแบบการขับขี่ที่แตกต่าง ซึ่งต่างเป็นอานิสงส์จากรถสนามแทบทั้งสิ้น
ท่อไอเสียทรงนี้คือพิมพ์เขียวที่ได้รับการยอมรับว่าสวยที่สุดที่ได้รับการผลิตขึ้น อานิสงส์จากรถแข่งของ Velocette ปัจจุบันคือออเดอร์ต้นๆ ที่คอรถซิ่งรุ่นเก่าสาย Café นั้นหมายตา ทว่า พาร์ทแท้ๆ ก็หาไม่ง่ายในตลาดโลก
ซัพหลังแปลกตา โช้คคู่ ที่สามาถปรับตั้งองศาแรงกดได้ เรียกว่าจัดให้เหมาะตามน้ำหนัก และจริตการขับขี่ นี่ก็อานิสงส์จากรถสนามอีกเช่นกัน
เดิมที Venom นั้น เลือกใช้ระบบไฟของ Miller ก่อนปรับเปลี่ยนมาใช้ของ Lucas สำหรับโมเดลปี 1962 ไฟปั่นเลี้ยงเครื่องยนต์ทำงานด้วยสายพาน กะโหลกไฟแบบเหล็กติดตั้งฝังเรือนไมล์ของสมิธตรงกลาง, แอมป์วัดไฟชาร์จ, สวิตช์ปิด/เปิดไฟหน้า ส่วนในรุ่น Venom Thruxton มีการเพิ่มวัดรอบเครื่องยนต์เข้ามา มีการปรับเปลี่ยนมาใช้กะโหลกไฟแบบหัวไฟลอย มีแป้นสำหรับไมล์และวัดรอบแยกออกจากกัน ซึ่งถือเป็นรุ่นที่พัฒนามาถึงจุดที่เรียกว่าเป็น “เรือธง” ของโรงงานเลยก็ว่าได้ น่าเสียดายชื่อของ Velocette นั้น ยื้อชีวิตได้ถึงปี 1970 เท่านั้น ก่อนที่จะปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม ทว่า หากเอ่ยถึงเครื่องยนต์สูบเดี่ยวแบบ 4 จังหวะ แรงๆ มีนวัตกรรมจากสนามแข่งขันอย่างชัดเจน ชื่อของ Velocette Venom ทั้ง Venom Sport, Venom Scrambler, Venom Clubman กระทั่ง Venom Thruxton ก็ยังคงก้องดัง…อยู่ในหัว…!?!?!
“เก่ง ดอนเมือง” คนนี้กรี๊ดอังกฤษสูบเดียว ก่อนหน้านี้ Viper หนนี้ Venom กี่ปีผ่านไปก็ยังภักดีกับแบรนด์ Velocette
1960 Velocette Venom
รถ / รุ่น Velocette / Venom
ปีผลิต 1955-1970
เจ้าของ เก่ง ดอนเมือง
กระบอกสูบ / ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มม.
ปริมาตรกระบอกสูบ 499 ซี.ซี.
แรงม้า 34 แรงม้า @ 6,200 รอบ/นาที
ระบบไฟ แมกนีโต / ไดนาโม
ระบบเกียร์ 4 เกียร์
ระบบคลัตช์ แห้ง (หลายแผ่น)
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) เทเลสโคปิก / สวิงอาร์มโช้คซัพแบบคู่ (ปรับองศาได้)
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก
ฐานล้อ 54.75 นิ้ว
ขนาดยาง (หน้า/หลัง) 3.25 / 19- 4.00 / 19
น้ำหนัก 177 กก. (390 ปอนด์)
ความเร็วสูงสุด 100 ไมล์ / ชม. (160 กม. / ชม.)
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: https://en.wikipedia.org/wiki/Velocette_Venom
Venom Scrambler : สายลุย ก็ปรับให้บาง หัวลอยๆ บังโคลนบาง และบาร์ยกสูง
Venom Clubman : รถซิ่งมาพร้อมชุดแฟริ่งหน้าครบเซ็ต หายากสุดๆ ออเดอร์ที่ตรงจริตคอ Café Racer ที่สุด
Venom Thruxton : สายซิ่งด้วยรถกะโหลกไฟลอย ไมล์ วัดรอบ บนแป้นแยก เบาะตูดมด และถังเว้าเพราะใช้คาร์บูฯ คอยาวตัวแข่งของ Amal
Venom Sport : กับฝาครอบเครื่องไฟเบอร์กลาส สวยดี แต่กลับไม่ได้รับความนิยม
Story / Photo : : nuiAJS