1961 BSA C15T
1961 BSA C15T
ปรับให้เหมาะ ครบทุกเส้นทาง ปฐมบท “ยูนิตซิงเกิล”
แค่ท่าจอดกวนโอ๊ยมาก รถออฟโรดไซซ์กำลังดี “สองแรงครึ่ง” กับงานวางพาร์ทในแบบ “ขาลุย” บาร์สูง ท่อยก การ์ดกันแคร้งค์ โชคดีได้ของเดิมๆ ติดรถมาครบ เลยแค่มาเก็บเครื่องยนต์กับสีสัน ที่เลือกทำให้เหมือนต้นฉบับ
เหมือนการเอาน้ำร้อนราดลงไปในแคตตาล็อก แล้วรอให้ขึ้นฟู เพราะถือเป็นงาน “รีสโตร์ฯ” ออกมาได้สวยโดนใจ ผลงานช็อปรถเก๋า Kasa Motors ที่อาสาคืนชีพ “รถเข่ง” ของซี้เก่า “ธีรพันธ์ เล็กพงษ์” ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง “โชคดี” เพราะของเดิม ของแท้ ติดรถมาครบ อิมพอร์ตบ้างก็ไม่มาก งาน “ฟื้น” ก็เลยเหนื่อยน้อยหน่อย เครื่อง สี เรียกกางแมน่วลทำกันเลย และนี่คือเทรนด์รถ “ออฟโรด” เกียร์รวมบล็อกแรกจากโรงงานปืน ในนามของซีรี่ส์…ซี ฟิฟทีน!!!
เครื่องยนต์ “เกียร์รวม” 249 ซี.ซี. รหัส C15T ขนาด 15 แรงม้า บล็อกแรกของ BSA ที่ได้พื้นฐานมาจาก Tiger Cub ของ Triumph เพราะตั้งใจให้เป็นรถ “ออฟโรด” ท่อไอเสียยกสเต็ปคือลายเซ็น ซึ่งผลิตออกมาให้เลือกสรรจนครบทุกสถานะเส้นทาง ทั้ง สปอร์ต ไทรอัล โมโตครอส และสแกรมเบิล
BSA C15 คือไลน์ผลิตเครื่องยนต์จากโรงงานในอังกฤษที่เริ่มเปิดตัวให้เห็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 1958 ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์ 4 จังหวะ ซิงเกิล “เกียร์รวม” (Unit-construction) บล็อกแรกที่สร้างขึ้น หลังบรรลุข้อกำหนดด้านกฎหมาย เรื่องปริมาตรกระบอกสูบสูงสุดสำหรับเครื่องยนต์แบบสูบเดี่ยวที่สามารถขับขี่คนเดียวได้ ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 1961 ซึ่ง C15 มันมีนิคเนมเก๋ๆ ว่า “Star” เครื่องยนต์ความจุ 249 ซี.ซี. 15 แรงม้า (11Kw.) ที่สนองนี้ดในตลาด ที่ตอนนั้นเริ่มจะมีรถจักรยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาป้วนเปี้ยนให้เห็นอย่างรุ่น C71 และ CB72
บาร์ทรงสูง เส้นสายสวยมาก กะโหลกไฟโคมเล็ก และเรือนไมล์ครึ่งวงกลม ตีสเกลแค่ 55 ไมล์ (100 กม.) เพราะเป็นรถลุย เน้นกำลัง “แรงบิด” ไม่เน้นเรื่องความเร็ว
มันไม่ได้ใหม่ซะทีเดียว C15 นั้น หยิบจับเอา “พิมพ์เขียวเก่า” จากรุ่น Triumph Tiger Cub ขนาดเครื่องยนต์ 200 ซี.ซี. มาพัฒนา (ก่อนนั้นรุ่น Terrier เครื่องยนต์ 150 ซี.ซี.) หลังจากที่รวมกิจการกันมาตั้งแต่ปี 1951 และได้ Edward Turner เข้ามานั่งเป็นหัวหน้าทีมออกแบบ C15 “Star” ไลน์ผลิตแรกในปี 1959 และผลิตต่อเนื่องจนกระทั่งปี 1967 และวางขายครบในหลากหลายฟังก์ชันการใช้งาน อาทิ รถสปอร์ต (Sports), ออฟโรด (Off Road), ไทรอัล (Trials) รวมถึง สแกรมเบิล (Scramblers)
ดุมหน้า/หลัง เป็นดุมเต็ม บังโคลนบางสโลป เฟืองไมล์ขับที่ดุมพลัง
BSA C15 Star : “รถถนน” โมเดลแรกที่คลอดในปี 1959
BSA C15 “Sportman” : โมเดล Super Sport (SS80) “รถซิ่ง” ที่ได้รับการปรับแต่งระบบต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ ใช้พาร์ทร่วมกับ B40 บาร์ทรงต่ำ และแตกไลน์รุ่น 350 ซี.ซี. ด้วย (SS90) แต่ก็ไม่ได้ ขายดิบขายดี ในฐานะรถถนนสักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่จะถูกซื้อไปเพื่อปรับแต่งลงทำการแข่งขัน
BSA C15T : เวอร์ชัน “สายลุย” (Trials Version) รถยกสูงที่มีเพลทกันกระแทกใต้เครื่องยนต์ และมีการปรับแต่งอัตราทดเกียร์ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเส้นทางในแบบออฟโรด ท่อไอเสียยกสูง ถังน้ำมันรูปทรงใหม่ ไฟหน้าสามารถถอดเปลี่ยนได้ หากต้องการปรับแต่งเพื่อให้สามารถลงแข่งขันได้ทั้งระดับสโมสรและนานาชาติ
ถังน้ำมันขึ้นรูป 2 ฝั่ง ประกอบติด เชื่อมกลาง ยึดติดเฟรมด้วยนอตตัวเดียว มันง่ายในการเซอร์วิสหัวเครื่อง และมีลูกยางกันสั่นตัวเล็กๆ อีกข้างละ 1 จุด
BSA C15T Trials Cat : ใครจะเชื่อว่ารถรุ่นที่ปรับแต่งพิเศษจากพื้นฐานของ C15T จนสามารถแบกพิกัดขึ้นมาสู้ในรุ่น 500 ซี.ซี. ได้ แถมยังดีพอที่จะเป็นแชมป์ World Moto-Cross Championship ในปี 1964 และ 1965 จากฝีมือของ Jeff Smith ซึ่งต่อมาเทคโนโลยีดังกล่าวพัฒนาจนได้เครื่องยนต์บล็อกใหม่ในนามของรุ่น 441 Victor Scramblers
ขับหลังด้วยโซ่ บังโคลนมีเฉพาะครึ่งบน แต่ต่อชายยาว และมีเพลทบล็อกกันโซ่สั่น
BSA C15S : รถโมโตครอส ที่เปิดตัวในปี 1959-1965 มันได้รับการปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนหลายอย่างเพื่อให้ตัวรถมีน้ำหนักที่เบาลงกว่า C15T เครื่องยนต์ที่แรงมากขึ้น ระบบไฟที่พัฒนาใหม่ มันคือรถแข่งที่ไม่จำเป็นต้องมีไฟหน้า ส่วนท่อไอเสียก็เลยไม่จำเป็นต้องมีปลายเก็บเสียงเช่นเดียวกัน นั่นยังรวมถึงส่วนของกรองอากาศที่แบ่งห้องกับกล่องแบตเตอรี่ ยางดอกหยาบ กับปลอกยางหุ้มโช้คกันฝุ่น โช้คหน้ายุบตัวได้มากขึ้น ล้อหน้า/หลัง 20/18 นิ้ว คือภาพลักษณ์ที่ติดตัว
เบาะเดี่ยว บาดขึ้นทรง วางบนเฟรมท้ายกระดก จุดที่บอกว่าเป็นเฟรมรุ่น “ออฟโรด”
BSA C15 Startfire Roadster : รถที่คลอดในปี 1963-1964 มันได้รับการปรับลุครถโดดให้ดูสปอร์ตขึ้น และสามารถใช้งานบนถนนได้ด้วย มีการปรับรูปทรงของเบาะนั่ง และทรวดทรงของถังน้ำมัน บังโคลนหน้า/หลัง ชุบโครม ไฟหน้าและยางที่ดอกไม่หยาบมากนัก นี่คือความโมเดิร์นที่ได้รับการแต่งแต้ม
BSA C15P : เวอร์ชันพิเศษสำหรับข้าราชการ “ตำรวจ” ซึ่งถูกผลิตในปี 1963 และ 1967
BSA C15G : ได้รับการทำคลอดในปี 1966-1967 และถือเป็นเวอร์ชันสุดท้ายของ C15 จุดหมุนต่างๆ ภายในเครื่องยนต์-ชุดเกียร์ ถูกแทนที่ด้วย “ลูกปืนแบริ่ง” เพลาข้อเหวี่ยงที่แกร่งขึ้น รวมถึงชุดปั๊มน้ำมันเครื่องก็ได้รับการขยายให้โตขึ้น…อีกด้วย!!!
ขาตั้งเดียว แต่เลือก “วางด้านขวา” มิติงงๆ สำหรับบ้านเรา ท่าจอดมันเลยกวนๆ หน่อย
STORY : NUIAJS
PHOTO : Kwang GPI.Photo Dep.