1986 Yamaha FZ400R
ขี่เที่ยวก็ได้ ทำแข่งก็ดี “เอฟแซด” ชื่อนี้มีมนตร์
ย้ายค่ายมาที่ Yamaha กันบ้าง ตามเทรนด์ของรถ “ไฟคู่” ที่กำลังเป็นกระแส “คลาสนี้” พิมพ์นิยม ก็ต้องปั้นให้ไม่น้อยหน้า ระดมสมองทีมสร้างสรรค์ ปูสเป็กรถ “สปอร์ตโปรดักชัน” ออกมาให้ได้ลิ้มลอง ทั้งสีสัน ทั้งหน้าตา เรียกว่าได้ใจแฟนคลับ “เดย์โทน่า คัลเลอร์” คือจุดขายต้น ที่เรียกราคา “รถแรง” ให้ตลาดได้หันมอง ก่อนสร้างสรรค์มันออกมา “เรียกเงิน” ได้ถึง…3 เวอร์ชัน!!!
Yamaha FZ400R : คือซีรี่ส์ของรถจักรยานยนต์ “ขนาดกลาง” ที่ยามาฮ่าพัฒนาต่อจากรุ่น XJ400Z ระหว่างปี 1984-1988 เพื่อหวังให้เป็นรถสปอร์ต Replica ในคลาส F-3 ที่กำลังเป็นความต้องการของตลาด อานิสงส์เครื่องยนต์แบบ 4 สูบ 399 ซี.ซี. แถวเรียงระบายความร้อนด้วยน้ำ ขนาด 59 แรงม้า ถูกวางบนโครงสร้างเฟรมเหล็กแบบท่อเหลี่ยม โช้คหน้าแบบเทเลสโคปิก กับล้อหน้า/หลังขนาด 16/18 นิ้ว คือมิติที่ลงตัว นี่คือรถอเนกประสงค์ที่ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ทั้งเป็นรถเดินทางท่องเที่ยว หรือหากจะปรับแต่งเพื่อลงสนามก็ทำได้
1st.. Generation : FZ400R โมเดลแรกในปี 1984 ไม่มีสีให้เลือก โรงงานบรรรจงสร้างสรรค์สีพิเศษออกมาให้เลย มันถูกเรียกว่า “Daytona Colour” น้ำเงิน/ขาว (Cosmic Blue/ Silky White) ตัดด้วยกราฟิกบั้งๆ สีแดง (Red-strobe) มันคือลวดลายที่ต่อมาได้เสมือนเป็น “ลายเซ็น” สำหรับรถสมรรถนะสูงของยามาฮ่า ท่อไอเสียแบบรวม 4-2-1 คือแนวทางควบคุมเสียงที่เสนาะหู เรียกว่าที่รอบเครื่องไหนๆ มันก็กร้าวในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ภาพลักษณ์ของรถแฟริ่ง “ครึ่งท่อน” พร้อมไฟหน้าแบบคู่ 2 ดวง นี่ถือเป็นงานออกแบบดีไซน์ใหม่ล่าสุดที่ถูกส่งลงในท้องตลาด
2nd.. Generation : ในเดือนมีนาคม 1986 มีการไมเนอร์เชนจ์เล็กๆ ให้กับ FZ400R ด้วยการปรับดีไซน์ของกระจกมองหลังให้ลู่ลมมากยิ่งขึ้น ปรับเปลี่ยนเม้าท์ยึดเป็นอะลูมินัม และพ่นล้อเป็นสีขาวเพื่อให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนฝาถังน้ำมันเป็นแบบบานพับ ซึ่งได้แนวคิดมาจากฝาเชื้อเพลิงของเครื่องบิน สีน้ำเงิน/ขาว เฉดใหม่ (Frence blue/ Silky White) พร้อมตัวหนังสือ FZ ที่เป็นลายเซ็นยังคงได้รับการติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางของแฟริ่งชิ้นบน ส่วนงานท่อไอเสียมีชิ้นส่วนอะลูมิเนียมเข้ามาร่วม รวมถึงปรับแต่งระบบภายใน เพื่อให้สุ้มเสียงเสนาะหูมากยิ่งขึ้น
3rd.. Generation : ตุลาคม 1987 จะเรียกว่าเจนท์ 2.5 ก็คงจะได้ เพราะโรงงานทำมันให้เป็น “ออปชัน” เพื่อการตกแต่งที่วางจำหน่ายเพิ่มมาในรถรุ่น 2 “เบาะเดี่ยว” เพิ่มความสปอร์ต ซึ่งต่อมามันกลายเป็นพาร์ท “สแตนดาร์ด” ที่ใส่ให้มา นอกเหนือจากสีที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยามาฮ่าเพิ่มออปชันสีสันด้วย “สีดำ” (Yamaha Black) คาดด้วยเส้น “สีขาว” และ s และไม่ลืมลายเซ็น “FZ” สีทอง ซึ่งคราวนี้ขยับมันลงมาวางตรงกลางของแฟริ่งชิ้นล่าง