1995 Ducati 900 Super Sport
ซูเปอร์สปอร์ต “ลูกครึ่ง” ขี่เที่ยวก็ได้ ทำแข่งก็ดี
ข้ามโลกมาเปิบ “มะกะโรนี” กันบ้าง นี่คือแบรนด์ที่ “ชูธง” ในคลาสรถแรงมาตั้งแต่เกิด ระบบ “วาล์วอัจฉริยะ” คือกุญแจไขสู่ความ “จัดจ้าน” ที่ได้รับการพิสูจน์ และยังพัฒนามันอย่างต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน วันนี้ Ducati ยังคงขับเคลื่อนเครื่อง L-Twin ในแบบที่ถนัด ในฐานะรถ “ซูเปอร์สปอร์ต” แบรนด์ที่ดีที่สุดของโลกที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น
Ducati Super Sport : หรือในนิคเนมที่รู้จักกันในนามของรถสายพันธุ์ “SS” รหัสที่เผยนัยว่านี้คือขุมกำลังแบบ L-Twin 90 องศา “Desmodromic” 2 วาล์ว/สูบ ระบายความร้อนด้วยอากาศ และให้กำลังแรงม้าสูงสุดที่ 80 แรงม้า ที่ 7,500 รอบ/นาที ซึ่งโลกได้รู้จักเครื่องยนต์สมรรถนะสูงนี้ครั้งแรกในปี 1973 ในนามของรุ่น 750 Super Sport และขยับเป็น 900 Super Sport ในปี 1975
1988 Ducati Super Sport (SS) ถือเป็นรถที่อยู่ในช่วงรอยต่อของความ “คลาสสิก” และความ “ทันสมัย” เครื่องยนต์ของ SS เกิดขึ้นจากการพัฒนาแบบการผลิตของรถรุ่น Pantah ที่มีขนาดความจุ 904 ซี.ซี. ระบายความร้อนด้วยอากาศ “Desmodue” 2 วาล์ว ส่วนชุดข้อเหวี่ยงนั้นคืออานิสงส์ของรถแข่งจากตระกูล Ducati 851 ซึ่งเลือกวางบนบนโครงสร้างแบบ “เฟรมถัก” (Tubular Trellis Frame) การเปิดตัวครั้งนี้ภายใต้กลุ่มผู้บริหารรายใหม่ในนามของ Cagiva ที่เข้ามาถือครอง Ducati โปรดักต์ที่เปิดตัวรุ่นแรกคือ Ducati 750 Sport ทว่า ก็พังไม่เป็นท่า หน้าตาที่สุดเชย แถมยังพบปัญหาจุกจิกมากมาย เพราะใช้คาร์บูเรเตอร์ของ Webber สวิงอาร์มที่แตกร้าวง่าย รวมถึงใช้ล้อขนาด 16 นิ้ว ทว่า Ducati ก็กลับลำทัน (1989-1991) ตัดสินใจออกรถรุ่นใหม่ในนามของรุ่น 900 Super Sport ที่มาพร้อมหน้าตาของรถที่ทันสมัยขึ้น บอดี้ฟูลแฟริ่ง ภายใต้ขุมพลังเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศและออยล์คูลเลอร์ขนาด 906 ซี.ซี. จากรุ่นPaso ชุดเกียร์ขับเคลื่อนแบบ6 สปีด และเปลี่ยนจากระบบช่วงล่างจาก Marzocchi มาใช้ของ Showa รวมถึงระบบจุดระเบิดที่ปรับจาก Kokusan มาใช้ของ Marelli Digiplex ที่ทันสมัยและมีความแม่นยำกว่า
1991-1998 ถึงคิวที่ต้องพัฒนาโครงสร้างเฟรม วัสดุใหม่ที่เรียกว่า Molydenum Steel ถูกใช้สร้างเฟรม มันแข็งแรง แต่มีน้ำหนักที่เบากว่า สวิงอาร์มใช้แบริ่งในส่วนของจุดหมุนต่างๆ ชุดเบรกสมรรถนะที่ดีกว่ายกยวงมาจาก 851 ซึ่งได้ทำการผลิตออกมาให้เลือกสรรในแบบแฟริ่ง “ครึ่งท่อน” (SS/CR) และ “แฟริ่งเต็ม” (SS/SL) หรือที่เรียกว่า Super Light และเพิ่มยอดขายด้วยรถผลิตเพื่อการส่งออก เฉพาะในตลาด “อเมริกาเหนือ” ในนามของรุ่น Sport Production (SS/SP) ซึ่งเหนือกว่าด้วยเฟนเดอร์หน้า-ฝาครอบคลัตช์ วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ และช่วงล่างของ Showa ที่สามารถเซ็ตค่าได้ รวมถึงเปลี่ยนมาใช้สวิงอาร์มวัสดุอะลูมิเนียม อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่เคยประสบ อาการร้าวของสวิงอาร์มแบบอะลูมิเนียมยังคงตามมาหลอกหลอน จนผู้บริโภคต่างฟันธงว่า รถในไลน์ผลิตของ SS นั้น “สวิงอาร์มเหล็ก” นั้นดูจะเหมาะสม…ลงตัวกว่า…!?!?!