1968 BMW R60US
ปรับลุค “รถส่งออก” เอาให้ทนมือ “นักซิ่งสายโหด”
“สวยโหด” ในลุควินเทจต้องเล่นเวอร์ชั่น “ยูเอสฯ” รถสูบนอน หน้ากระบอก พร้อมออปชั่นลุย คือคอนเซ็ปต์สร้างล่าสุดที่เพิ่งจะหลุดออกจากคอก “Germany Classic Home” ช็อปรีสโตเรชั่นที่ขยับก้าวเกินกว่าแพลนเพลนๆ ที่เห็นได้เจนตาจากค่าย “ใบพัด” ขยับเข้ามาใกล้อีกนิด เพื่อที่จะเสพโสตมันได้อย่างถนัดตา…กับ…R60US ที่มีออปชั่นแต่งองค์ชนิด…พรั่งพรู…!?!?!
BODY/FRAME
1967-1969 BMW R60US ถือเป็นรถเจเนอเรชั่นสุดท้ายที่ได้รับการพัฒนาขึ้นสู่จุดสูงสุดรุ่นหนึ่งของ BMW ที่พาเหรดร่วมก๊วนบุกตะลุยเข้าตลาดอเมริกันทั้ง R50US/R60US/R69US สำหรับแบบการผลิตที่เลือกจับเอาเครื่องยนต์ตัวแรงขนาด 30 แรงม้า (จากโมเดล R60/2) วางเข้ากับโครงสร้างเฟรมหน้ากระบอกเทเลสโคปิคกระบอกโต (245/3) ที่ถือเป็นสเป็กมาตรฐานเพื่องาน “ส่งออก” มันชัวร์กว่าและรองรับการทำงานที่ “หนักมือ” ของชายร่างยักษ์หัวทองได้…ชะงัด!!!…ตั้งแต่ R32 คันแรกถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี 1923 โครงสร้างเฟรมแบบท่อกลม หน้าแหนบ ถังใต้เฟรม หลังแข็ง คือความลงตัวที่ถูกถ่ายทอดจากมันสมองของ Max Priz วิศวกรการบินผู้โด่งดัง…1929 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเฟรมครั้งใหญ่ด้วยงานโลหะ ปั๊มขึ้นรูป หน้าแหนบ ถังในเฟรม หลังแข็ง โปรดักต์โมเดลแรกเป็นที่รู้จักทันทีในนามของ R11…ถัดมา…1935 R12 กับโครงสร้าง เฟรมปั๊ม หน้ากระบอก ถังในเฟรม หลังแข็ง ถูกผลิตออกมา…และ…ตามด้วย 1936 โครงสร้างใหม่ที่ปรับเปลี่ยน เฟรมปั๊มขึ้นรูปถูกแทนด้วย เฟรมท่อกลม หน้ากระบอก ถังบนเฟรม R5 รถรุ่นสุดท้ายที่ยังคงรั้งพันทนาการด้วยเฟรมหลังแบบฮาร์ดเทลที่แข็งแกร่ง…1938 R51 เฟรมท่อกลม หน้ากระบอกไฮดรอลิก ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าแกร่ง ในขณะที่นวัตกรรมใหม่เอี่ยมที่เรียกว่า “เทเลสโคปิค แอบซอร์บ” ก็ได้รับการพัฒนาปรับใช้ “หลังสไลด์” บ้านเรากลับเรียกขานอย่างนั้น นี่คือระบบแอบซอร์บที่วางแกนเพลาล้อหลังเข้าไว้กับแนวกระบอกไฮดรอลิก พร้อมติดตั้งคอยล์สปริงในปลอกเดียวกัน มันนิ่มนวลขึ้น ซึ่งโรงงานก็บัญญัติศัพท์อย่างเป็นทางการว่า “Telescopic suspension” โครงสร้างแบบใหม่นี้ ในช่วงท้ายไลน์ผลิตยังเสริมความแข็งแกร่งด้วยเสากลางเฟรม ที่ช่วยลดการบิดตัวหลังต้องแบกรับภาระจากเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (R67/R68)…ก่อน…ปิดท้ายด้วย “โช้คสวิงอาร์ม” โครงสร้างรุ่นสุดท้ายที่ได้เห็นในบอดี้ของรุ่น R50/R60 ที่เริ่มใช้ในปี 1955 และยังคงใช้กระทั่งวาระสุดท้ายของยุคคลาสสิกถึงปี 1969 (ยกเว้น US-Spec. ที่เริ่มผลิตส่งออกในปี 1967)
ENGINE
ธรรมเนียมแรกเริ่มด้วยเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ Flat-Twin (1923-1969) ระบายความร้อนด้วยอากาศ ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1923 จากความคิดที่ว่า เครื่องยนต์ “สูบนอน” สามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า เพราะเสื้อสูบจะปะทะกับอากาศได้โดยตรง โดยความคิดดังกล่าวถือเป็นประเพณีที่ถูกสืบทอดยาวนานมากระทั่งปัจจุบัน ภายใต้รหัสเครื่องยนต์ที่สะอาดตาว่า “บล็อก R” ซึ่งผลิตออกจำหน่ายทั้ง ระบบไซด์วาล์ว (SV) และ โอเวอร์เฮดวาล์ว (OHV) โดยมีปริมาตรกระบอกสูบตั้งแต่ 494/594 และ 745 ซี.ซี.…จากไลน์ผลิตของ R60/2 มาดใหม่ในเวอร์ชั่น “ส่งออก” นาม US-Spec. “หน้ากระบอก” ยังคงอานิสงส์ของรถรุ่นท็อปนี้ไปได้เต็มๆ เครื่องยนต์สเป็กหลักขนาด 594 ซี.ซี. บนปริมาตรกระบอกสูบ/ช่วงชักเดิมที่ 72×73 มม. 30 แรงม้าที่ 5,800 รอบ/นาที เวอร์ชั่นสุดท้ายได้รับการพัฒนาอีกเล็กน้อย มันได้ทั้งรอบเครื่องยนต์ ในขณะที่แรงบิดสูงๆ จากกำลังอัดที่เคลมไว้ที่ 7.5:1 ก็ได้ใจ…เครื่องแรง…เฟรมแกร่ง…แฮนด์สูง…คือภาพถนัดที่เจนโสต และเพราะไลน์ผลิตมีเพียงแค่ 3 ปี (1967-1969) จึงมีจำนวนผลิตในท้องตลาดไม่มากนัก
TRANSMISSION
ระบบขับเคลื่อนด้วย “เพลา” อันเป็นเอกลักษณ์นั้น BMW ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ข้อดีในเรื่องการดูแลรักษาที่ไม่ต้องมีการปรับตั้ง และไร้เสียงรบกวนที่ชวนหัวเสียจึงเป็นข้อได้เปรียบ จากข้อกำหนดของชุด “เพลาหลัง” จากรุ่น R60/2 ที่ 8/27 มันเวิร์คดีอยู่แล้ว (R60/2 Side car 7/27) เมื่อได้โครงสร้างซัพหน้าแบบใหม่ (เทเลสโคปิค) มันเข้าคู่ แกนเพลาในกระบอกกลวงที่ช่วยป้องกันฝุ่นผงและความเสียหายอื่นใด อัตราทดเฟืองเกียร์เดิมแบบ 4 สปีด จาก R60/2 ที่ 4.17/2.73/1.94/1.54 ยังเป็นอนุกรมที่สัมฤทธิ์ผล ซึ่งดูจะลงตัวครอบคลุม ทั้งเครื่องยนต์ขนาด 494/594 ซี.ซี. ข้อบ่งชี้หนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเวอร์ชั่น “ส่งออก” ทั้ง R50US/R60US/R69US ต่างพิสมัยอัตราทดเฟืองท้ายนี้ที่ 8/27 ซึ่งให้ผลเรื่องแรงฉุดกระชากที่หนักหน่วงกว่า…ซึ่งก็ตรงใจกับวิถีสายซิ่ง มือ-เท้า หนัก อย่าง… “ตลาด’ เมกา”…!?!?!
1968 BMW R60US
รถ/รุ่น BMW R60US
ปีผลิต 1967-1969
จำนวนผลิต 17,306 คัน (รวมไลน์ผลิตจากรุ่น R60/2)
เจ้าของ TUM @ GERMANY CLASSIC HOME
เครื่องยนต์ 2 สูบนอนยัน 4 จังหวะ 594 ซี.ซี. 30 แรงม้าที่ 5,800 รอบ/นาที
กระบอกสูบ/ช่วงชัก 72/73 มม.
กำลังอัด 7.5 : 1
ระบบไฟ Bosch LJ/CGE 60/6/1700 R
คาร์บูเรเตอร์ 2 X Bing 1/24/151-1/24/152
ระบบเกียร์ 4 เกียร์ (เท้า)
ระบบคลัตช์ แห้ง (แผ่นเดียว)
ระบบขับเคลื่อน เพลา 8/27 ฟัน
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) เทเลสโคปิค/สวิงอาร์มโช้คน้ำมันไฮดรอลิก
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (ดุมเสี้ยวขนาด 200 มม.)
(บนล้อหน้า 3.50/18/ หลัง 4.00/18)
น้ำหนักรวม 195 กก.
มิติ (ก/ย/ส) 660/2,137/980 มม.
ฐานล้อ 1,427 มม.
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 5.0 ลิตร/100 กม.
ความเร็วสูงสุด 145 กม./ชม.
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: BMW PROFILE 1923-1969 / BMW MANUFACTURING MUNICH