Biker StoryClassic Bike

Harley-Davidson Story


118 ปี เส้นทาง “พญาอินทรีย์”   

ใครจะเชื่อ ว่า William S. Harley และ Arthur Davidson จะสร้างรถแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกขึ้นที่กระท่อมหลังนี้

HARLEY-DAVIDSON Time line                                              

1903 : William S. Harley และ Arthur Davidson ร่วมสร้างจักรยานยนต์คันแรกของเขาขึ้นขนาด 25 คิวบิกนิ้ว หรือ 410 ซี.ซี. ระบบ atmospheric-inlet-valve


1907 : Harley-Davidson สร้างต้นแบบของเครื่องยนต์ V-Twin ขึ้น แผนโครงงานเริ่มในปี 1909 แต่มาสร้างขึ้นเป็นรูปร่างจริงๆ ก็เมื่อปี 1911 ดังนั้นการผลิตเครื่อง V-Twin 45 องศา จึงเริ่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมถึงเครื่องยนต์ flat-twin และเครื่องยนต์สูบเดียวด้วย…Harley-Davidson สร้างตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วเป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ตามหลังจักรยานยนต์ Indian ไม่มากนัก การพัฒนาเครื่องยนต์เป็นในรูปของวิวัฒนาการมากกว่าแบบเป็นขั้นตอน ด้วยระบบ side-valve แทนที่ระบบไอเสีย atmospheric-inlet-valve ที่เคยออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 1920


1936 : เครื่องยนต์ OHV “Knucklehead” ได้แนะนำสู่ตลาด ซึ่งใช้เป็นพื้นฐานมากระทั่งเป็นเครื่องยนต์  “BigTwin”และเมื่อ Indian ล่มสลายในปี1950 ทำให้ Harley-Davidson ขึ้นเป็นหนึ่งเดียวในอเมริกา และยังคงผลิตเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ออกสู่ตลาด รวมถึงเครื่องยนต์รุ่น 2 จังหวะขนาดเล็ก กับรถสกู๊ตเตอร์ด้วยเช่นกัน


1960 : Harley-Davidson ซื้อบริษัท Italian Aermacchi company ทำให้มีชื่อของแบรนด์นี้ขายในตลาดอเมริกาภายใต้การบริหารของ Harley-Davidson จนปี 1978 ก็ได้ขายบริษัท Aermacchi ออกไป


1969 : American Metal Foundaries (AMF) เข้าซื้อกิจการของ Harley-Davidson


1981 : Harley-Davidson ซื้อกิจการคืนจาก AMF และพัฒนารถรุ่นใหม่ๆ ขึ้น พร้อมกับภาพพจน์ใหม่ของบริษัทที่เชื่อถือได้

ปัจจุบัน : ยังคงพัฒนาในรูปแบบที่ตกทอดกันมาของจักรยานยนต์ ซึ่งยังคงได้รับการต้อนรับจาก “นักบิด” ทั่วโลก และถือเป็นแบรนด์รถจักรยานยนต์แบรนด์ที่แข็งที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันก็มีอายุถึง 118 ปีแล้ว

          นี่คือ “เรื่องเล่า” จาก “เมืองนอก” ในขณะที่ “เมืองไทย” เราพบ “ต้นเรื่อง” ที่ครั้งหนึ่งคือ “โก๋ ’เมกัน” ตัวจริง เสียงจริง ที่ปัจจุบันยังคง “เข้าเส้น” กับวิถีเสพของ “พญาอิทรีย์”…ตนนี้!!!

ไพศาล แซ่สวาท
มนตร์เสน่ห์ “รถหน้าสปริง”

ฮาร์เล่ย์ฯ หน้าสปริงเข้ามาบ้านเราตั้งแต่เมื่อไหร่?

         “หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างที่ทราบกันคือ“อเมริกา” ส่งมาใช้สำหรับสภาวะสงคราม และใช้สำหรับภาระกิจของกองทัพเท่านั้น ซึ่งตอนนั้นยังไม่ใครได้รู้จักรถแบรนด์นี้ด้วยซ้ำไป เพราะพลเรือนอย่างเราๆ แทบไม่มีโอกาสได้เจอ ตอนนั้นเจ้าตลาดยังเป็นของรถจักรยานยนต์จากประเทศอังกฤษ…ส่วนที่มีโอกาสได้เข้าใกล้ก็สักประมาณ 20 ปีนี่เอง ซึ่งเป็นผลพวงจากการปลดประจำการจากกองทัพ เป็นล๊อตที่ออกประมูลหลังปลดประจำการ  ซึ่งบ้านเราจะเรียกขานกันว่ารุ่น “7แรง” (750 ซี.ซี.) และ “12แรง” (1,200 ซี.ซี.)

สภาพที่หลุดออกมากจากกองทัพถึงมือพลเรือน?

         ปลดประจำการ…มันก็คือหมดสภาพตามที่เข้าใจ แต่สมัยก่อนก็ยังถือว่าหยิบจับมาประกอบขึ้นคันได้ ซึ่งการประมูลออกนั้นมาทั้งชิ้นส่วนของตัวรถ ล้อ เฟรม แฮนด์ เครื่องยนต์ และอะไหล่ซ่อมบำรุง แล้วแต่ใครจะได้อะไรไป แต่ก็ออกมาเป็น “รถสิบล้อ” เรียกว่านำมารวมขึ้นได้หลายคัน แต่ตอนนั้นกลับไม่มีคนสนใจเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นรถที่ไม่มีทะเบียน อีกอย่างก็ขี่ยากมาก ของส่วนใหญ่มันเลยอยู่กับนายทหารเก่าๆ ที่เค้าชอบ และได้รับรู้ถึงสมรรถนะและมีโอกาสได้ใช้งาน สำหรับคันที่ถูกนำมาขึ้นคันได้ก่อนก็จะถูกหิ้วไปก่อน ซึ่งสนนราคาค่าตัวตอนนั้นไม่สูงมาก ส่วนที่ขึ้นคันไม่ได้ เกะกะตาก็ถูกขายเป็นเศษเหล็ก”

ราคาที่ซื้อขายกันตอนนั้น?

          “ส่วนใหญ่รถมันไม่มีทะเบียนก็เลยไม่ได้รับความสนใจมากนัก ราคามันก็ไม่สูง อย่างผมเคยซื้อก็ 5,000-6,000 บาท นี่รถเป็นคันนะ วิ่งได้ แพงสุดๆ ก็ 25, 000 บาท ซึ่งได้รถที่มีสีสันสวยงาม โครเมี่ยมวับทั้งคัน แถมเครื่องอีกตัว ส่งให้ถึงบ้านอีก แต่ตอนนั้นใครกล้าซื้อถึง 25, 000 บาท เรียกว่า “ตาบอด” แล้ว…แต่ถ้าเป็นรายที่ประมูลได้มากๆ ให้เค้าขึ้นเป็นคันให้ก็สัก 10,000 บาท เต็มที่ 12,000 บาท จะเอาอะไหล่อะไรหยิบไปได้เลย ซี่ลวดซี่ละ 50 สตางค์เอง คาร์บิวใหม่ ไม่เกิน 500 บาท ล้อกิ๊กๆ ก็ 300 บาท…เคยนะเคยไปซื้อ ไซด์คาร์แท้ๆ จากจังหวัดนนทบุรี ขาย 2 คัน 700 บาท แต่จริงๆ 3 ตัวเพราะมีจมดินอยู่คันหนึ่ง เค้าก็ให้ทั้งหมดนั่นแหละ ผมต้องลงทุนเช่ารถ 400 บาท กลับบ้าน ได้ไซด์คาร์ตั้ง 3 ตัว…แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพวก“7 แรง” มากกว่าเพราะ “12 แรง” รถมันมีเข้ามาน้อยมาก ที่เห็นขี่ก็เฉพาะนายทหารชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ส่วนตัวผมชอบ “12 แรง” มากกว่า เพราะมีโอกาสได้ลองแล้ว ผมว่ามันทรงพลัง”

ที่วิ่งในสมัยนั้นเป็นเวอร์ชั่น Army (ทหาร) เลยรึเปล่า?

          “มีนะ…ทั้งบังโคลนหนา/ บาง ตอนนั้นรถมันออกมายังไงก็ใช้ไปตามนั้น ยังไม่รู้หรอกว่า อันไหนพลเรือน อันไหนอาร์มี่ แต่ส่วนใหญ่คือเป็น “สีเขียวขี้ม้า” ก็เหมาว่ามันเป็นรถทหาร ตอนหลังได้ข้อมูลจากต่างประเทศ เริ่มมีการศึกษาก็พอจะรู้ว่า อันไหนเวอร์ชั่นทหาร พลเรือน ก็มาปรับเปลี่ยนให้มันตรงรุ่นทีหลัง สมัยก่อนเล่นรถมันไม่ลึกขนาดนี้”

แล้วมีเอเย่นต์เริ่มเอาแบรนด์นี้เข้ามาขายบ้างรึเปล่า?

          “ไม่ทราบแน่ชัด แต่อยู่ตรงวรจักร ข้างกองปราบฯ เคยรับมาขาย 5 คัน เป็นรุ่นหน้าไฮดรอลิก หลังแข็ง (Hydra Glide) แต่ก็ขายไม่ออก…เจ๊ง! ในที่สุด “ธนาคารนครหลวงไทย” สมัยนั้นก็ยึดทรัพย์นำมาขายทอดตลาด ก็มันจะขายได้ยังไง 20 ปีก่อน ราคาตั้ง…3 แสน

ฟูลออปชั่น…สมัยนั้นเขาเล่นกันขั้นไหน?

          “เต็มที่ก็มี บังลม เบาะไอ้เข้ ตระแกรงท้าย กระเป๋าท้าย ก็เท่านี้ เค้าจะเน้นเรื่องเครื่องยนต์กันมากกว่า อะไหล่มันก็ราคาไม่แพง ยังไม่อยากเชื่อเหมือนกันว่าปัจจุบันจะมีราคาค่างวดได้สูงมากมายถึงขนาดนี้ พูดแล้วยังขนลุกจำได้ว่าตอนนั้นมี “7แรง” อยู่ 3 คัน “12 แรง” 1 คัน กับอะไหล่อีกเต็มบ้าน และ Sportster 900 ซี.ซี. อีก 8 คัน หุ้นกับเพื่อนประมูลมาจาก “สันติบาล” ราคา 35,000 บาท มาขึ้นเต็มๆ คันให้เพื่อนได้คันหนึ่ง ส่วนที่เหลือผมเอาไว้…สันติบาล นี่เป็นฮาร์เล่ย์ฯ รุ่นหลังแล้ว Sportster 900 ล๊อตนี้เป็นล๊อตแรก ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นรุ่น Eletra Glide 1,200 ซี.ซี. ส่วนรุ่น Sprint 250 ซี.ซี. (AERMACCHI) เป็นของตำรวจ สน.

ช่วยถ่ายทอดบรรยากาศตอนออปทริปกับรถหน้าสปริง?

          “พวกหน้าสปริงมันเป็นรถความเร็วไม่สูงนัก เวลาขี่ท่ามันจะสง่างามมาก ความเร็วสัก 100 กม./ชม. กำลังดี (มากกว่านั้นพัง) เหนือ ใต้ อีสาน ลุยมาหมด…หัวหิน นี่จะไปบ่อยที่สุด ออกเดินทางแต่เช้า นัดกันที่สวนลุมฯ บ่ายๆ ก็ถึง สภาพเส้นทางเหมาะ ระยะทางก็กำลังดี…ส่วนตัวผมว่า “12 แรง” นี่มันแรงสมชื่อจริงๆ พละกำลังมันเหนือ “7 แรง” เยอะ ช่วงตัวรถก็ยาวกว่า เวลาโดดคอสะพานไม่มีอาการสะบัด โช้คหน้าก็สับได้ดีกว่า เกียร์ 1-2 ได้ความเร็วที่จัดจ้าน เรียกว่ากำลังขึ้น ลากยาวๆ นี่สบาย ในขณะที่ “7 แรง” เกียร์ 2 ก็เรียกว่าเต็มกำลังแล้ว ไหลเกียร์ 3 ได้อีกเล็กน้อย”

ปัจจุบันภาพรวมรถหน้าสปริงแบรนด์นี้ในบ้านเรา?

          “รถที่เห็นวิ่งๆ กันอยู่ผมให้สัก 80% ซึ่งก็ถือว่าเยี่ยมมากเมื่อเทียบกับความเก่าแก่ของปีที่ผลิต อีกอย่างเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่หันมาเล่นผมก็ดีใจด้วย สำหรับเจ้าของที่มีโอกาสได้ครอบครอง เด็กๆ เขาเก่ง ซ่อมเอง สั่งของเอง เดี๋ยวนี้โลกมันแคบลง มีมือถือ รู้ทุกอย่าง เห็นเขาทำเต็มๆ ของบางอย่างเราก็ได้เปิดหู เปิดตา กับรุ่นน้องๆ เขานี่แหละ สมัยเราทำให้วิ่งได้นี่ก็เก่งแล้ว สมัยนี้อะไหล่ไม่ใช่ปัญหา เขาใส่ของแต่งชนิดฟูลออปชั่น วงการมันก็เลยกว้างขึ้นทั้ง รถเก่า รถใหม่ ผมว่าถ้ามี โอกาส มีกำลัง เล่นฮาร์เล่ย์ฯ รับลองไม่มีขาดทุน” แต่ซื้อตอนแรก “ทุน” มันอาจจะเยอะหน่อย แต่ถ้าชอบแล้ว เท่าไรก็ต้อง..สู้…”

Related Articles

Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save