BMW Motorrad กำลังพัฒนาระบบแอโรไดนามิกแบบปรับได้ โดยใช้สปริงแทนระบบไฟฟ้า
ดูเหมือนว่าวิศวกร BMW Motorrad ที่เมืองมิวนิกกำลังพัฒนาระบบแอโรไดนามิกแบบปรับได้ตัวใหม่สำหรับมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ซึ่งหลายๆ อาจคิดว่ามันจะเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัย แต่สิทธิบัตรที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าวิศวกรกลับใช้เทคโนโลยีแบบธรรมดาๆ แทนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในการทำงานของมัน
สิทธิบัตรที่ยื่นโดย BMW Motorrad แสดงให้เห็นการประกอบ ‘แผ่นเบี่ยงเบนอากาศแบบปรับได้’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการไหลเวียนของอากาศให้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าการออกแบบจะใช้ R1250GS เป็นโมเดลต้นแบบ แต่เรามั่นใจว่า Winglet ตัวนี้สามารถใช้ได้กับมอเตอร์ไซค์รุ่นอื่นๆ ได้เช่นกัน
แนวคิดเรื่องตัวถังที่สามารถปรับขยับได้เพื่อปรับเปลี่ยนการไหลเวียนของอากาศ ไม่ว่าจะช่วยในเรื่องของการขับขี่หรือการปรับปรุงแอโรไดนามิกจัดว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีมอเตอร์ไซค์จากหลายแบรนด์ที่สามารถปรับชิลด์หน้าแบบไฟฟ้าได้ แต่ก็มีมอเตอร์ไซค์บางรุ่นอย่าง Moto Guzzi V100 Mandello ของอิตาลีกลับมีอะไรที่แตกต่าง ตัวรถติดตั้งระบบปีกตัดลมปะทะแบบปรับได้ซึ่งอยู่ที่แฟริ่งด้านหน้า สามารถปรับขยายออกไปในระดับต่างๆ ขึ้นอยู่กับโหมดการขี่และความเร็ว แถมยังลดการรบกวนของลมได้มากถึง 22 เปอร์เซ็นต์
แน่นอนว่าการใช้ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์และเซอร์โวไฟฟ้า จะเป็นการเพิ่มภาระน้ำหนักและกลไกซับซ้อนให้กับตัวรถ แต่สำหรับ ‘แผ่นเบี่ยงเบนอากาศแบบปรับได้’ ใหม่จากสิทธิบัตรที่ยื่นล่าสุดของ BMW Motorrad จะลดความซับซ้อนนี้ลงไปได้ด้วยระบบสปริง โดยพึ่งการทำงานจากความเร็วและความดันอากาศ
‘แผ่นเบี่ยงเบนอากาศแบบปรับได้’ จะใช้งานได้เต็มที่ในย่านความเร็ว 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะปิดกลับเป็นเนื้อเดียวกับแฟริ่งในช่วงความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การทำงานของมันในความเร็วต่ำจะเป็นตัวเปลี่ยนทิศทางของอากาศหนีออกจากผู้ขับขี่ เพื่อเพิ่มความสบายในการขับขี่จากลมปะทะที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ขับขี่ย่านความเร็วสูงมันจะหดกลับโดยสมบูรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแอโรไดนามิกสูงสุด
แม้ว่าสิทธิบัตรดูยังห่างไกลจากการนำมาใช้จริง แต่แนวคิดนี้กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้สำหรับมอเตอร์ไซค์สายผลิตและมั่นใจว่าเราอาจเห็นอุปกรณ์ชิ้นนี้ในอนาคตกับรุ่นเรือธงของ BMW Motorrad อย่างแน่นนอน