HighlightRidding Travel

CRF บังโคลนลอย 30 Up @ น้ำเอ่อ – ไกรเกรียง

สรวงสวรรค์ของพรานเบ็ด กับเส้นทางลุยหลากรสของสิงห์บังโคลนลอย …  พื้นที่ต้องห้ามผู้ป่วย “โซเชียลซินโดรม” !!!!

1_resize

การเดินทาง คืออีกหนึ่งวิธีเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ไม่สามารถซื้อหา หรือส่งชิ้นส่วนชิงโชคได้จากเครื่องดื่มผสมน้ำตาลยี่ห้อไหนๆ ถ้าอยากได้ต้องออกไปหากันเอง !!! … เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มเพื่อนนักเดินทาง “บังโคลนลอย 30 Up” ที่แม้ผ่านร้อนหนาวกันมาแล้วหลายสิบปี แต่ก็ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ไม่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น จนเป็นที่มาแห่งการเดินทางที่ไม่มีวันจบ กับทริปล่าสุดภายใต้โปรเจ็คท์ Honda CRF “บังโคลนลอย 30Up” ที่ครั้งนี้มีปลายทางอยู่ที่ น้ำเอ่อ – ไกรเกรียง … ดินแดนตกสำรวจนอกแผนที่ ซึ่งเคยได้รับการยอมรับจากนักตกปลาว่าคือสรวงสวรรค์ของพรานเบ็ดเลยทีเดียว

2_resize
เส้นทางลุยป่าหลากหลายรสชาดที่สัมผัสได้ในพื้นที่เดียว
3_resize
เป็นเส้นทางขี่เที่ยวที่หาความตื่นเต้นได้ไม่รู้เบื่อ
4_resize
ป้ายบอกทางลงเรือ เพื่อไปเที่ยวชมอุโบสถสแตนเลสแห่งเมืองเดียวของกาญจน์

ด้วยสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นผลจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ทำให้เกิดน้ำเอ่อท่วมพื้นที่ ก่อนชาวบ้านจะลงหลักปักฐานสร้างชุมชนริมน้ำ เป็นที่มาของบ้านน้ำเอ่อ ส่วนชื่อไกรเกรียงที่มักเรียกต่อท้ายกัน เป็นชื่อของที่ทำการหน่วยอันดับที่ 9 ของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์นั่นเอง … โดยผืนน้ำที่กว้างใหญ่ของเขื่อนศรีฯ มีพื้นที่ครอบคุลมป่ารอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี .. อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี และ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และจากความสมบูรณ์ของผืนน้ำที่กว้างใหญ่ ทำให้มีปลานานาพันธุ์อาศัยอยู่อย่างชุกชุม จนชาวบ้านในพื้นที่สามารถปรับสภาพชีวิตให้ทำมาหากินกันได้อย่างกลมกลืน จนกระทั่งนักเดินทางในยุคบุกเบิกที่มีโอกาสได้สัมผัสกับการล่าปลา ก่อนนำมาขยายต่อสู่โลกกว้าง ก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของ น้ำเอ่อ – ไกรเกรียง เป็นที่หมายปองของบรรดาพรานเบ็ดชาวเมือง ที่ต่างหาโอกาสมาสัมผัสให้ได้สักครั้ง

5_resize
ชิต วิคตอรี่ … จอมดีเดือดของทริป สนุกสุดเหวี่ยงกับเส้นทางขับขี่ออกกำลังกาย
6_resize
สีสันสดใสของก๊วนบังโคลนลอย 30 Up … กับวิถีทางเสพความสุขด้วยการการขับขี่บนทางสายฝุ่นเหมือนเดิม
7_resize
บ.ก.อ้วน มอ’ไซค์ ยังหลงใหลในวิถีคนจรแบบถอนตัวยาก รายงานตัวร่วมก๊วนไม่เคยขาด

การเดินทางสู่สวรรค์บนดินของบ้านน้ำเอ่อ – ไกรเกรียง ไปได้หลายเส้นทาง แต่ที่สะดวกที่สุดจากกรุงเทพฯ เราเลือกใช้เส้นทางจากบางบัวทองมุ่งหน้าสู่ จ.สุพรรณบุรี เลี้ยวซ้ายที่ถนนบายพาส ไปตามเส้นทางสู่ดอนเจดีย์ ก่อนถึง อ.ด่านช้างประมาณ 5 กม. เลี้ยวซ้ายไปตามทาง อช.พุเตย ถ้ำธารลอด … ผ่านปลักประดู่ แล้วมุ่งหน้าสู่บ้านม่วงเฒ่า … ซึ่งจะเป็นชุมชนใหญ่สุดท้ายก่อนที่จะมุ่งหน้าเข้าป่ากัน และนักเดินทางสามารถแวะซื้อหาอาหาร ตุนเสบียงกัน รวมถึงของใช้ที่จำเป็นจากร้านค้าชุมชนกันได้ที่นี่ด้วย … นอกจากนั้นที่ม่วงเฒ่ายังมีร้านอาหารป่ารสชาติบ้านๆ แนะนำให้ได้ลิ้มลองกันด้วย กับร้านครัวม่วงเฒ่า โดยรายการอาหารที่ไม่น่าพลาดนอกจากเมนูปลาต่างๆ ที่ทั้งสดแถมไม่แพงแล้ว แกงป่าเนื้อสับใส่หน่อไม้ดอง ผัดเผ็ดไก่บ้าน กับไข่เจียวฟูกรอบก็เป็นอาหารเบสิคๆ ที่อร่อยจนไม่อยากวางช้อนกันเลยทีเดียว

8_resize
บางช่วงของเส้นทางขับขี่ที่ผ่านทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ แหล่งหากินของฝูงวัวเจ้าถิ่น
9_resize
9ระยะทางเพียงไม่เกิน 30 กม. จากปากทางม่วงเฒ่าถึงย่านแพพัก ที่ในอดีตต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง .. แต่หลังภาครัฐให้การดูแล จัดการเกรดบดถนน วันนี้แค่ไม่เกิน 30 นาทีก็ถึงปลายทางได้แล้ว

ออกจากม่วงเฒ่าเดินทางต่อไปตามทางสู่บ้านทุ่งมะกอก ซึ่งเป็นสามแยกที่เลี้ยวขวาจะพาไป อช.พุเตย ตะเพินคี่ ให้ขับตรงไป  … บนถนนลูกรังสู่ปลายทางที่ น้ำเอ่อ – ไกรเกรียง ระยะทางประมาณไม่เกิน 30 กม. ในอดีตเมื่อกว่า 10 ปีก่อน อาจต้องใช้ในการเดินทางนานกว่า 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะในฤดูฝนที่ถนนจะเสียหายจากสายน้ำที่กัดเซาะ ทว่ามาถึงวันนี้เส้นทางที่เคยกันดารได้รับการดูแลจากผู้ดูแลทำการบดอัด เกรดผิวจนเรียบ จนขนาดที่รถเก๋ง หรือรถตู้สภาพเดิมๆ ก็ยังสามารถเดินทางเข้าไปได้ในฤดูแล้ว และย่นระยะเวลาการเดินทางลงเหลือเพียงไม่ถึงชั่วโมง

10_resize
กระชังปลาที่แพปอ … มีบริการปลาสดจากธรรมชาติพร้อมเสริฟทุกวัน

บนถนนที่ตัดผ่านผืนป่าอันร่มครึ้มขึ้นลงเขาสูงชัน วันนี้ผู้ขับขี่สามารถทำความเร็วได้ดีพอสมควร จนนักเดินทางสายลุยที่เคยมาเยือนในยุคเก่าต่างรู้สึกเสียดายในอรรถรสของความยากลำบากที่ต้องผ่านอุปสรรคของเส้นทางสายนี้ แต่เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของชาวบ้านที่ต้องใช้เส้นทางเป็นประจำ จึงต้องมีการจัดการสร้างถนนคอนกรีตตามแผนพัฒนาฯ ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่ภาครัฐเองก็ให้ความสนใจในชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเล็กๆ กลางป่าแห่งนี้ … แต่สำหรับขาลุยที่ติดใจ และอยากออกกำลังกายกับพาหนะคู่ใจก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะที่ปลายทางยังมีเส้นทางขับขี่ให้ได้นำวิทยายุทธออกมาใช้อีกหลากหลายเส้นทาง ซึ่งครั้งนี้ทีมงาน “บังโคลนลอย 30Up” จะพาไปสัมผัสกับบางช่วงบางตอน พอเป็นไกด์สำหรับนักลุยที่สนใจ

11_resize
“บิ๊กหวาย ไซส์เบสิค” เป็นผลผลิตจากธรรมชาติที่บรรดาพรานเบ็ดเมืองกรุงฯ ต่างอยากทดลองเย่อวัดพลัง

ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในบ้านน้ำเอ่อ – ไกรเกรียง แทบทั้งหมดเป็นลักษณะของแพพัก ที่ยังสามารถเลือกได้ว่าจะให้ลากออกไปลอยเท้งเต่งกลางผืนน้ำ หรือจะอยู่ติดริมตลิ่งก็แล้วแต่ความสะดวก ซึ่งบรรดาแพพักที่มีให้เลือกมากกว่า 10 แห่ง สนนราคาก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน โดยมีให้เลือกตั้งแต่ระดับ 8 – 9 ร้อย ไปถึง 2 – 3 พันบาท แต่ถ้าอยากให้ลากออกไปเลือกมุมสวยตามใจก็จะอยู่ในราว 4 พันขึ้น … ระดับความหรูหราสะดวกสบายของแพพักในย่านนี้ก็ไม่หนีกันเท่าไหร่ โดยถ้าจะให้ดาวจากเรื่องความหรูหรา สะดวกสบายคงจะได้คนละดาว ครึ่งดาว แต่หากจะวัดจากความสงบเงียบเรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 5 ดาวแน่นอน

12_resize
แวะพักที่โค้งอ่าววิวสวยมุมมองพาโนรามา … เสน่ห์ที่ยังคงตรึงตาตรึงใจ

แต่ก็ใช่ว่าที่พักจะไร้ซึ่งความสะดวกสบายเลยเสียทีเดียว เพราะวันนี้ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น และรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น บรรดาผู้ประกอบการ (ซึ่งก็คือชาวบ้านในพื้นที่นั่นแหละ) ก็พยายามเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาทิระบบไฟส่องสว่าง ที่บ้างก็อาศัยเครื่องปั่นไฟ บ้างก็ใช้แผงโซล่าเซลล์เป็นต้น หรือในบางแพที่หรูหราขึ้นมาอีกนิดอาจมีระบบเครื่องเสียงคาราโอเกะ เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้โชว์ลูกคอกันพอเป็นที่รำคาญด้วย  !!! … และจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาเยือนกันหลายหนในนรอบหลายปี พอจะมีคำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวในการตัดสินใจเลือกแพพัก อันดับแรกคือเลือกจากทำเลที่ถูกใจ ต่อไปให้ดูเรื่องความแข็งแรงของแพ อุปกรณ์ของใช้อาทิเครื่องนอน หมอนมุ้ง เครื่องครัวพื้นฐาน ที่ควรจะได้รับการดูแลทำความสะอาดบ้างตามสมควร … ทว่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่เสพติดการสื่อสารผ่านเน็ทเวิร์ค ดินแดนนี้ถือเป็นพื้นที่ต้องห้าม เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นระบบใดๆ แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้จริงๆ ต้องเดินทางไปยังที่ทำการหน่วยฯ ซึ่งห่างออกไปอีกราว 10 กม. ก็พอจะมีสัญญาณให้โทร.กันได้

13_resize
อีกหนึ่งแพพักในบรรยากาศสงบเงียบ เรียบง่าย ที่มีให้เลือกมากมายบนผืนอ่าวแห่งบ้านน้ำเอ่อ
14_resize
โฮมสเตย์ชาวน้ำ กับวิถีทำกินที่พึ่งพาอยู่กับธรรมชาติ

กลับมาที่เป้าหมายของการเดินทางก๊วน “บังโคลนลอย 30 Up” ในครั้งนี้กันบ้าง … หลังจากอกหักเล็กๆ จากเส้นทางขาเข้าที่ได้รับการบดอัดจนเรียบกริบ (ตามสภาพทางกลางป่า) หลังหารือกับเจ้าถิ่นคนพื้นที่แล้ว ก็สว่างปิ๊งไอเดีย เมื่อมีคำแนะนำเส้นทางในการขี่รถเล่นผุดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเลาะเรียบริมน้ำ ที่สามารถลุยกันได้ยาวๆ แถมน่าตื่นเต้นตลอดเวลา หรือจะเป็นเส้นทางบุกป่าที่ชาวบ้านใช้เดินเท้าหาของป่าก็เป็นอีกทางที่ขี่ได้สนุก และพิเศษสุดในช่วงหน้าแล้งก่อนเข้าวสันต์ฤดู จะมีเกาะกลางน้ำที่โผล่ขึ้นมามีเนื้อที่กว้างขวางกว่า 4 – 5 ไร่ ซึ่งแน่นอนบนเกาะที่มีเพียงช่วงน้ำลด สภาพเส้นทางที่เกินคาดเดาก็สามารถสร้างความตื่นเต้นและสนุกสนานกับการขับขี่ได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งหากต้องการจะข้ามไปขี่เล่นบนเกาะก็สามารถว่าจ้างแพข้ามไปได้เหมือนกัน … และนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสน่ห์ที่ยังรอการค้นหาจากนักเดินทางที่ชื่นชอบการผจญภัยให้ได้มาสัมผัส ที่น้ำเอ่อ – ไกรเกรียง สวรรค์บนดินของคนรักลุย

15_resize
เรือทัวร์ ที่พาชมวิวรอบอ่าว … หรือหากจะเลือกเดินทางไปชมความงามของโบสถ์สแตนเลสก็อเมซิ่งไม่น้อย

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร มอเตอร์ไซค์ : motorcycmagazine.grandprix.co.thmag
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th

Related Articles

Check Also
Close
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save