Lambretta Story
ย้อนร้อน “แลมฯ” การเดินทางของเศษซากสงคราม
เพราะเลือกผิดข้าง ก็เลยโดน…บอม!!! นี่คือหนึ่งในหายนะที่เป็นผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โรงงานท่อเหล็กของอิตาลีของ Ferdinando Innocenti ต้องเผชิญ แนวทางหนึ่งเพื่อความอยู่รอด ธุรกิจใหม่ที่เหลือบมองเห็นเพื่อนบ้านอย่าง Vespa นั้น ปักธงได้…มันคงเวิร์ค!!! และน่าจะเป็นหนทางฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาอีกครั้ง 1947 คือปฐมบทที่เข็นชื่อของ Lambretta ให้โลกได้รู้จักผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากมายได้รับการจัดสรร มันเหมือนจะดี ทว่า กลับไม่หมู เกิดเรื่องราวมากมายขึ้นกับโรงงานของ Innocenti ทั้งการเงิน การเมือง รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารรุ่นก่อตั้ง สุดท้ายก็ยื้อโรงงานผลิตสกู๊ตเตอร์ได้ถึงปี 1971 เท่านั้น สิริอายุรวมเพียง 24 ปีเท่านั้น
งานเปิดตัวโมเดลครั้งแรกๆ ที่ Lambretta ออกสู่สาธารณชน
ณ งาน Earls Court Show ในปี 1958Lambretta รุ่นแรกที่ส่งสู่ตลาดในนามของ
1948 Lambretta M(A) 125
ปี พ.ศ. 2504 คือปฐมบท “แรก” ที่ Lambretta ขึ้นฝั่งแผ่นดินสยาม ภายใต้กลุ่มทุนอย่าง บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ แอนด์โกซึ่งเรื่องราวที่ส่งต่อถึงลูกหลานก็คือ เรานั่งเสพจาก “เฮียเจียว” ผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงมา…ตั้งแต่ต้น!!!
กันตพงศ์ ฤกษ์แสนสุข แลมเบร็ตต้าสตอรี่ บนแผ่นดินสยาม
กันตพงศ์ ฤกษ์แสนสุข
แลมเบร็ตต้าสตอรี่ บนแผ่นดินสยาม
“ผม…กันตพงศ์ ฤกษ์แสนสุข หรือที่น้องๆ เขาจะรู้จักว่า “เฮียเจียว” อายุอานามก็ 75 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ทำธุรกิจของตัวเองกับครอบครัวแล้วก็ญาติ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงใช้แลมเบร็ตต้าเป็นพาหนะประจำวันเสมอๆ ดีใจที่ยังมีโอกาสได้ใช้…ผมไม่เคยใช้รถจักรยานยนต์แบรนด์อื่นเลยนอกจาก…“แลมฯ”…”
แลมเบร็ตต้าสตอรี่ บนแผ่นดินสยาม
“คงต้องย้อนหลังไปตอนผมอายุ 15…บ้านเราเปิดอู่ซ่อมจักรยานยนต์อยู่ก่อนแล้ว ตอนแรกก็ไม่คิดอะไร มันเห็นเรียกว่าจนชินชา แต่ด้วยที่เป็นครอบครัวคนจีน เป็นลูกชาย พ่อเค้าก็เลยอยากให้เราเป็น เพราะวันหน้ามันจะมีประโยชน์…สุดท้ายก็ต้องยอม ช่วงไหนว่างๆ ก็มาช่วย เริ่มที่เป็นลูกมือช่างใหญ่ ตอนนั้นจำได้ว่ารถลูกค้าที่มาซ่อมก็มี PUCH, KEISLER, ใหญ่หน่อยก็ BMW, TRIUMPH, NORTON, BSA, AJS, JAWA, MZ…”
ระหว่างท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่ง “เบอร์ลี่ฯ” เป็นสปอนเซอร์ค่าใช้จ่าย เส้นทางที่เห็นส่วนใหญ่ยังคงเป็นถนนลูกรัง
สุดหล่อของเรา “เฮียเจียว” คนโพกผ้า (หน้าสุด)…และเด็กสุดในกลุ่มบริเวณหน้าศูนย์บริการที่สุพรรณบุรีที่ขบวนท่องเที่ยวแวะพัก ภายในนอกจากจะขาย Lambretta แล้ว ก็ยังเห็น HONDA และ
MZ หัวไม่เลี้ยว
เหตุนี้เองที่ทำให้รู้จักแลมเบร็ตต้า?
“สักประมาณปี 2504-2505 บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์แอนด์โก (ซ.หลังสวน) กำลังนำรถจักรยานยนต์ Lambretta เข้ามาทำตลาด ซึ่งบริษัทนี้เขานำเข้าสินค้าจากอิตาลีอื่นๆ อยู่แล้ว มีทั้งรถยนต์ ตู้เย็น สำหรับจักรยานยนต์ก็คือสินค้าตัวใหม่ ซึ่งตอนนั้นตลาดรถสกู๊ตเตอร์ Vespa เขาครองอยู่…เหตุนี้เองที่ทางบริษัทเข้ามาติดต่อที่ร้าน อยากให้เราเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งการที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายได้นั้น อะไหล่ และการบริการจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับบริษัทแม่ เราต้องส่งช่างเข้าไปเทรนนิ่งจากช่างฝรั่งที่เดินทางเข้ามาฝึกอบรม ซึ่งทางร้านก็ส่ง “ผม” ไป ซึ่งหลักสูตรที่ใช้อบรมก็เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เราก็ได้รู้จักการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ การตั้งค่าต่างๆ ซึ่งบ้านเราตอนนั้นยังใช้ความคุ้นเคย กะด้วยสายตา ส่วนของเขานั้นเป็นเครื่องมือพิเศษทั้งหมด ยอมรับว่าได้จากเขามาก อีกทั้งยอดขายของ Lambretta ก็เริ่มที่จะติดตลาด”
เส้นทางลูกรังของ “เขาใหญ่” กับสภาพป่าที่ยังคงครึ้ม
ภาพนี้ “เฮีย” บอก ขอแจ้งเกิดคนเดียว (คันนี้ทะเบียนก็สวยไม่หยอก)ภาพนี้คือพัทยาครั้งความเจริญยังมาไม่ถึง ส่วนสาวคนขวามือคือขวัญใจชาว “แลมฯ” ยุคนั้น (สวยจริงๆ) และที่เห็นสวยไม่แพ้กัน
คือทะเบียน (โคตร) ตอง (22222) ที่เล่นกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ
เบอร์ลี่ฯ จำหน่ายรถรุ่นใดบ้าง?
“รุ่นแรกจำได้ว่าเป็นรุ่น “สูบตั้ง” โมเดล Li ไม่มีฝากระโปรง ไฟอยู่ที่จมูก ซึ่งจำหน่ายออกไปมากเพราะหน่วยงานของราชการสั่งเข้าประจำการทีละ 100-200 คัน โดยเฉพาะจราจรที่พาหุรัดนี่ใช้มาก ถ้าเป็น Vespa รุ่นไฟที่บังโคลน รู้สึกไปรษณีย์เขาจะใช้รุ่นนี้ รุ่นต่อๆ มาก็มี 125 Li, 150 Li, TV175, TV200 แล้วก็ SX200...ซึ่งรุ่นที่สั่งเข้ามา ซี.ซี. มันคร่อมกันอยู่ ส่วนใหญ่คนก็จะเล่น 150 ถ้าต้องการรถใช้งาน ประหยัด ถ้าสปอร์ตหน่อยก็เล่นรถ 200 ซึ่งรูปทรงมันสวย แรง แต่ก็แพงกว่าหน่อย ซึ่งสนนราคารถใหม่ออกห้างเท่าที่จำได้ 150 ราคา 9,800 บาท, 150 Special (บอดี้เหมือน 175 แต่เครื่องเป็น 150) ราคา 10,500 บาท, ถ้า 200 (แต่จำนวนรถเข้ามาไม่มาก) ก็ 12,800 บาท”
ระหว่างเส้นทางกลับจากเพชรบุรี ก็ได้ “เงาะ” ชะลอมใหญ่นี่แหละ
…แก้เหงาปากทัวร์จาก “เบอร์ลี่ฯ” ที่แยกสุพรรณฯ ครั้งยังเป็นถนนลูกรังอัด
จุดนี้เองเลยมีโอกาสได้เป็นเจ้าของกับเขาด้วยคันหนึ่ง?
“ได้ในนามตัวแทนศูนย์บริการ เสมือนเป็นการบังคับซื้อไปโดยปริยาย เงื่อนไขผ่อนถูกมาก ไมมีเงินดาวน์ ผมเลยซื้อมาคันหนึ่ง เป็น X200 Special ซึ่งผมเองเป็นคนชอบเที่ยว ทางยาวๆ ผมว่า 200 มันได้เปรียบ ถึงใช้ในเมืองมันสู้พวก 150 ไม่ได้ การดูแลรักษาก็มากกว่า จุกจิกกว่า แต่ผมได้เปรียบตรงที่เป็นช่าง ก็เลยตัดสินใจเป็นเจ้าของคันนี้ ซึ่งถือว่ารุ่นท็อปของ Lambretta อีกทั้งจุดขายเรื่องระบบเบรกที่เป็น “ดิสก์เบรก” ก็ถูกใส่มาในรุ่นนี้ (175/200)…สำหรับการเที่ยวในยุคนั้น มันเสมือนเป็นการโฆษณาให้บริษัทด้วย เพราะการเดินทางแต่ละครั้งทาง “เบอร์ลี่ฯ” ก็ให้การสนับสนุนเป็นค่าเดินทาง ส่วนน้ำมันก็มีสปอนเซอร์เข้ามาร่วมคือ “เชลล์” ที่สนับสนุนน้ำมันและ2T ส่วน Vespa เขาก็มีกลุ่มของเขา “คาลเท็กซ์” เขาสนับสนุนเรียกว่าต้องเลือกกันไปเลยว่าจะเข้ากลุ่มไหน ไม่ได้ร่วมกันเป็นสกู๊ตเตอร์เหมือนทุกวันนี้…ก็ด้วยตัวเลขทางการค้า”
ป้ายทางเข้าอุทยานฯ “เขาใหญ่” ปีประมาณ 2507 ถ่ายเป็นที่ระลึกหน้าโรงแรมเขาใหญ่ สมัยนั้นไม่อนุญาตให้กางเต็นท์
ความสำเร็จของ Lambretta ยาวนานแค่ไหน?
“น่าจะสักเกือบๆ 20 ปี ส่วนหนึ่งนั้นเพราะรถญี่ปุ่นเริ่มที่จะเข้ามาตีตลาด เรื่องรูปทรงมันก็ทันสมัยกว่า อัตราเร่งก็ดีกว่า คล่องตัวกว่า เรียกว่าดีในทางบวกกว่าเยอะ เฉพาะตัวสกู๊ตเตอร์ด้วยกันเอง “แลมฯ” ถือว่าเจอคู่ปรับอย่าง Vespa นี่ก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งเจอรถยุ่นเข้าไปด้วยยิ่งไปกันใหญ่ อย่างที่บอก แลมฯ มันจุกจิกกว่า ต้องการการดูแลรักษาที่มากกว่า อะไหล่ในเครื่องยนต์ถ้าถอดมานับกันจริงๆ นี่เป็น 1,000 ชิ้น จุดยึดต่างๆ ก็เป็นนอตหมด…เวลาเสียทีก็ต้องใช้เวลาซ่อมมากกว่ายี่ห้ออื่นๆ สำหรับคนที่เขาใช้งานประจำ เขาเองก็ไม่มีเวลามากพอมารอรถซ่อม บ่อยๆ เข้าก็กลับเป็นความเบื่อหน่าย ท้ายสุดถ้ามีโอกาสก็เปลี่ยนไปเล่น Vespa ไม่ก็รถญี่ปุ่นไปเลย…ซึ่งก็ส่งผลถึงดีลเลอร์อย่าง “เบอร์ลี่ฯ” ที่ก็ต้องถอนสมอในที่สุด ซึ่งเรื่องอะไหล่ที่มันหายากอยู่แล้ว ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น”
น้ำตกกองแก้วบนเขาใหญ่ ปัจจุบันกลับไม่คุ้นชื่อ แม้วันจะเข้า 75 ปีแล้ว “เฮียเจียว” ยังไม่ห่างจาก “แลมฯ”
และเมื่อมีมันกลับมา ก็ไม่ลืมถอยเจ้า “แลมออโต้” มาไว้เป็นอาชา
แต่ก็มีดีลเลอร์เจ้าใหม่ที่เข้ามาอาสากู้ชื่อ?
“บริษัท เอฟ.อี. ซิลลิค (กรุงเทพฯ) คือตัวแทนจำหน่ายรายถัดมา แต่โมเดลที่นำเข้ามาขายไม่หลากหลายมากนัก เท่าที่จำได้ก็มีเฉพาะ DL150/200 ซี.ซี. คร่อมอย่าง 125/175 ไม่มีจำหน่าย…ซึ่งบอดี้ 150/200 นั้น แทบแยกกันไม่ออก แต่จะต่างกันที่โช้คหน้าที่ 200 มีโช้คซับ และเบรกเป็นดิสก์เบรก ส่วน 150 ไม่มีโช้คซับและเป็นดรัมเบรก…แต่…การมีตัวแทนจำหน่ายครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งสุดท้าย และระยะเวลาเท่าที่จำได้ก็ไม่นานนัก”
ตัวท็อปของไลน์ผลิตจากยุค’60 Lambretta SX200 2018 “แลมฯ” กลับมาแล้ว ทว่า หนนี้เป็นเครื่องออโต้
สายพาน และผลิตขึ้นในเอเชีย
จากแบรนด์ที่ “ตายแล้ว” ถูกหยิบมาสร้างสรรค์อีกครั้ง ทว่า หนนี้มันปรากฏโฉมในแบบรถนวัตกรรมใหม่ เครื่องยนต์ออโต้ “บิดอย่างเดียว” ขับเคลื่อนด้วยสายพาน ยังดีที่พอได้อานิสงส์ “พิมพ์เขียว” จากรุ่นดั้งเดิม เลยเรียกศรัทธาจากสาวก Lambretta ผู้ภักดีได้บ้าง และสำหรับประเทศไทยนั้น ก็ได้เปิดตัวในงาน Motor Expo 2018 ภายใต้กลุ่มทุนนาม บริษัท ไดนามิค มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และนำเข้ามาจำหน่ายใน 3 รุ่น คือ Lambretta V125/200 Special และV200 S type