1955 Triumph T110
1955 Triumph T110
เก็บทุกเม็ด เด็ดทุกพิศ งานปั้น “เสือใหญ่” แห่งโคเวนทรี
การจัดวางชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ยังคงสวยงาม คลาสสิก ตามแบบฉบับของ Triumph รถเจนท์ที่ 3 รุ่นพัฒนาขึ้นจาก “โช้คดุม” และใส่ซัพหลังกระบอกคู่เข้าไปแทนที่ เรียกว่ายัด “ความสปอร์ต” เข้าไปแบบเต็มองค์
บอกเลยว่า “ทุกเม็ด” นี่คืองาน “รีสโตร์ฯ” ที่เก็บ “ยันนอต” ผลงานมาสเตอร์พีซของนายห้าง ELEMENT ที่หันมาจับงานบิ๊ว “รถอังกฤษ” เพราะเอกอุเรื่องพาร์ท กับงานเก็บดีเทลที่กำลังเป็น “จุดขาย” นี่คือแนวทางที่อยากโวฯ ว่า สายโคเวนทรีนี่ทางเลย ไม่ต้องมากด้วยถ้อยแถลง ขยับโสตเข้าไปพิศเอง จะรู้ว่าเรา…เม้าท์จริง…!?!?!
เครื่องยนต์ทรงพลังที่พัฒนาขึ้นจากรุ่น “วิหคสายฟ้า” มาใช้ฝาสูบอะลูมิเนียมและพัฒนาระบบไหลเวียนน้ำมันเครื่องยนต์ในก้านกระทุ้งแทน กับชุดเกียร์ 4 สปีดที่ไล่อัตราทดเกียร์ใหม่ ให้อารมณ์แบบรถสปอร์ตที่ออกตัวได้จัดจ้า ทั้งสวย ทั้งแรง แบบนี้ลูกค้าฝั่งเมกาคลั่ง
หลังผ่านร้อน ผ่านหนาว มาครบรอบวาระปีที่ 50 ก็ถึงดีลที่ต้อง “ปรับใหญ่” Triumph Conventry ได้นักออกแบบมือหนึ่งในเวลา Edward Turner (เอ็ดเวิร์ด เทอร์เนอร์) เข้ามาร่วมสังฆกรรม…Turner รั้งหัวหน้าทีมออกแบบวิศวกรรม เขาสามารถสร้างจุดเปลี่ยนให้ Triumph ได้อย่างมากมาย เครื่องยนต์จากรากฐานของ Tiger 90 ได้รับการขัดเกลาใหม่ เครื่องยนต์ต้นแบบปริมาตรกระบอกสูบขนาด 500 ซี.ซี. แบบจุดระเบิดพร้อมกัน (Parallel Twin) สายพันธุ์แรกคือ Speed Twin ก็คลอดในปี 1937 เครื่องยนต์บล็อกใหม่นี้มาพร้อมมิติห้องเผาไหม้ขนาด 63×80 มม. ข้อเหวี่ยงแบบ 360 องศาและวางมันไว้ตำแหน่งกึ่งกลางของห้องแคร็งค์ ก้านสูบอะลูมิเนียม แคมชาฟท์คู่ ก้านกระทุ้งวาล์วคู่ ตำแหน่งกึ่งกลางของเสื้อสูบทั้งด้านหน้า/หลัง มันสร้าง “สมดุล” ได้เป็นอย่างดี ข้อดีนี้เองที่ช่วยให้เครื่องยนต์ของ Turner มีขนาดที่ “แคบลง” และ “เบากว่า” รุ่นก่อนหน้าถึง 5 ปอนด์ (2.2 กก.) ด้วยเหตุนี้ Speed Twin เมื่อสันดาปจึงทำงานได้อย่างนิ่มนวล ทว่า ยังคงให้อัตราส่วนของกำลังอัดที่สูงไว้ที่ 7:1 ซึ่งมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในท้องตลาด
พิมพ์นิยม “หัวไอ้โม่ง” แบบที่เป็นเอกลักษณ์ คิ้วจานไฟ 2 ชั้นและคิ้วโครมเป็นเส้นข้างอีก 1 คู่ พร้อมมาตรวัดต่างๆ มุมมองนี้หลงทุกคน
ไลน์การผลิตรถจักรยานยนต์ของ Triumph นั้นเกิด-ดับ อยู่เป็นวัฏจักร “บล็อกจุดระเบิดคู่” รหัส T100/ 5T/ T110/ 6T คือ “ไอคอน” หลักที่ย้ำแบรนด์การค้าของ Triumph ให้แข็งแกร่ง…T110 (ไทเกอร์-ร้อยสิบ) มีการพัฒนาต่อยอดมาจากรถรุ่น Thunderbird ที่ออกจำหน่ายในปี 1953 ทว่า โปรดักต์แรกที่เรามีโอกาสได้เห็นนั้นเกิดขึ้นบนโครงสร้างของรถ “สวิงอาร์ม” ในปี 1954 เครื่องยนต์รหัส T110 ความจุ 649 ซี.ซี. ได้รับการจัดวางเซ็คชั่นให้เป็นรถที่มีความเร็วสูง บนโครงสร้างที่ยังคงเน้นความเป็นรถที่มีคาแรกเตอร์ดูสุขุม เคียงข้างพละกำลังแรงบิดขนาดมหาศาล การพัฒนาครั้งนี้ทีมออกแบบเล็งผลว่ามันจะโดนใจลูกค้ามือหนักในอเมริกา ที่กำลังมองหาพาหนะคันใหม่ที่ตอบสนองและใช้งานได้สมราคา เดิมทีทีมออกแบบตั้งใจจะให้รถรุ่นนี้ใช้เสื้อสูบ-ฝาสูบที่เป็น “เหล็กหล่อ” ทั้งหมด ทว่า กลับมีการตัดสินใจในท้ายสุด…ว่า…เปลี่ยนมาใช้ฝาสูบวัสดุ “อะลูมิเนียม” ที่ให้ผลเรื่องของการระบายความร้อนได้ดีกว่า ใช้วาล์ววัสดุที่มีส่วนผสมของเหล็ก กับเปลี่ยนระบบไหลเวียนน้ำมันเครื่องจากภายนอก (หนวดกุ้ง) มาเดินไว้ภายในปลอกก้านกระทุ้งแทน
ฝาไพรมารี่ยาววัสดุอะลิเนียม เพราะไม่ติดตั้งชุดไฟทุน T110 ใช้ระบบปั่นเลี้ยงเครื่องด้วยไดนาโมชาร์จ
ดรัมเบรกหน้าแบบ “ดุมเสี้ยว” ขนาด 8 นิ้ว พร้อมช่องดักอากาศ-ตะแกรง สำหรับระบายความร้อนให้ผ้าเบรก
สายเบรกหน้าวิ่งในแป๊ปเหล็ก พาร์ทอานิสงส์จากรุ่น “โช้คดุม” รายละเอียดที่ไม่มองข้าม
แอบ…สงสัยเล็กๆ ว่าทำไม…เครื่องยนต์สปอร์ตของ Triumph จึงใช้รหัสเครื่องยนต์เป็น T100/ 110 ทว่า หลังสืบค้นจากสารานุกรมของฝรั่ง (wikipedia.org/wiki/Triumph_Tiger_T110) ปูมหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นตั้งแต่การทดสอบเครื่องยนต์รหัส T100 (ออกสื่อชื่อดังในยุคนั้น)…มันสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 100 ไมล์/ชั่วโมง (160 กม./ชม.) ในขณะที่ T110 หลังปรับขยายขนาดของลูกสูบจาก 63 เป็น 71 มม. แล้ว มันขยับความเร็วสูงสุดขึ้นมาที่ 110 ไมล์/ชั่วโมง (175 กม./ชม.) เอาเป็นว่า…ฝรั่ง…เค้าเล่นกัน ง่ายๆ แบบนี้ มาร์คดอกจันทน์ไว้ที่ “ความเร็วสูงสุด” และหยิบมันมาเป็น “จุดขาย” ที่ได้ผล T110 มีการพัฒนาอีกเล็กน้อย โดยใช้ “ดุมเต็ม” ขนาด 8 นิ้วในปี 1958 และพัฒนาวางเครื่องยนต์ไว้บน “เฟรมเปลคู่” ในปี 1960 ก่อนยุบสายการผลิตไปในปี 1961 ซึ่งเป็นผลพวงจากรถ ““คาร์บูเรเตอร์แบบคู่”” ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1959/ T120 Bonneville รถสปอร์ตคันใหม่ที่เหนือชั้นกว่าทั้ง “หน้าตา” และ “สมรรถนะ”…!?!?!
จุดระเบิดด้วยแมกนีโต Lucas 6V. ระบบที่ Turner เลือกในการทำงานของ “เสือใหญ่”
ไฟเลี้ยงเครื่องยนต์ใช้ไดนาโมชาร์จ ปั่นผ่านเฟือง ส่งสู่ไฟหลักแล้วแยกเฟซไปตามส่วนต่างๆ ไฟหน้า ท้าย แตร
โลโกรุ่นสวิงอาร์ม 1954-1956 ยังคงเป็นโลโกแบบเดียวกับรุ่น “โช้คดุม” เป็นเส้นอะลูฯ 4 เส้น ฝังลายเซ็นตรงกลาง
1955 Triumph T110
รถ / รุ่น Triumph / T110
ปีผลิต 1953-1961 (1955)
เจ้าของ ELEMENT SHOP
เครื่องยนต์ 649 ซี.ซี. OHV Parallel Twin ระบายความร้อนด้วยอากาศ
กระบอกสูบ / ช่วงชัก 71 x 80 มม.
ระบบไฟ แมกนีโต / 6 V.
ระบบเกียร์ 4 เกียร์ (ขวา)
ระบบคลัตช์ แห้ง (หลายแผ่น / ใช้ไอน้ำมันเครื่องเลี้ยง)
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) เทเลสโคปิก / สวิงอาร์มโช้คน้ำมัน
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (ดุมเสี้ยวขนาด 8 นิ้ว)
ขนาดยาง (หน้า/หลัง) 3.25 / 19- 3.50 / 19
ความจุเชื้อเพลิง 4 แกลลอน (15 ลิตร)
ความจุน้ำมันเครื่อง 5 ไพท์ (2.8 ลิตร)
ฐานล้อ 57 นิ้ว
เบาะสูง 31 นิ้ว
น้ำหนัก 190 กก.
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: TRUIMPH TWIN RESTORATION / Roy Bacon
: wikipedia.org/wiki/Triumph_Tiger_T110
Story / Photo : NUIAJS.