1958 Triumph T100 & 2015 Triumph Bonneville T100 BLACK
1958 Triumph T100 & 2015 Triumph Bonneville T100 BLACK
ตำนาน “จุดคู่” เรื่องเก่า เล่าใหม่ ไม่เบื่อ
ย้ายค่าย “เบอร์เดิม” เบอร์นี้ผมเมมเป็นคนคุ้นเคยในแวดวง “มอเตอร์ไซค์” กับวันนัดดิวที่เช้ามาฝนก็…พรำ!!! โชคดีสายๆ แดดออก พร้อมกับเห็นรถหล่อคู่หนึ่ง ทยอยตามก้นกันมาพอให้โล่งใจ ชายหนึ่งสาย “วินเทจ” กับรถ “สายกริ๊ป” ที่เงายันข้อเหวี่ยง ส่วนอีกคัน “สายเรโทร” สวยดุ แต่ไม่กัด เพราะเป็นรถเชื่องบล็อกส่งท้าย ที่ทะมึนด้วยงานสีขรึมจากโรงงาน “เสือดำ” (T100 Black) เขาเรียกแบบนั้น…มาเลย…หล่อๆ 4-5 ช็อต…ก่อน…ฝนมา…!?!?!
วิวัฒนาการเครื่องยนต์ที่ต่างกันเกือบ “แซยิด” ที่ยังคงการทำงานของข้อเหวี่ยงแบบ Parallel Twin บล็อกเก๋า ความจุ 500 ซี.ซี. กับชุดเกียร์แยก ส่วนอีกบล็อก 865 ซี.ซี. เกียร์รวม หัวฉีด ที่ยังคงเด่นด้วยอัตราเร่งที่หนักหน่วง ทว่า นุ่มมือ แถมหน้าตาที่ถ่ายทอดออกมา ก็ถือว่าซึมซับเอาธรรมเนียมเก่าๆ มาได้อย่างน่าชื่นชม
1958 Triumph T100
แบบการผลิตต่อเนื่องของ Edward Turner ในรุ่น 5T Speed Twin “เสื้อเหล็ก-ฝาเหล็ก” ขนาด 500 ซี.ซี.…สู่…ไลน์ผลิต Tiger100 (T100) “เกียร์แยก” นั้น อยู่ในช่วงปี 1939-1959 ทั้งเครื่องยนต์และระบบโครงสร้างมีการพัฒนาอยู่เป็นวาระ จากโมเดลดั้งเดิมปี 1939 ปรับเปลี่ยนหน้าตาด้วยโช้คอัพกระบอกคู่ไฮดรอลิกและท่อไอเสียแบบคู่ฟอร์แมตมาตรฐานในปี 1946 ก่อน 1951 วัสดุใหม่ที่เรียกว่า “อะลูมิเนียม” ที่ระบายความร้อนได้ดีกว่าถูกใช้หล่อเป็นเสื้อ-ฝาสูบ พร้อมครีบระบายความร้อนที่มากขึ้น เบาะยาวแบบ 2 ตอน ได้รับการติดตั้งพร้อม “ซัพหลัง” ระบบใหม่ที่เรียกว่า Sprung-Hub (โช้คดุม)…1954 เครื่องยนต์ของ T100 พัฒนาปรับเปลี่ยนเฟืองไทมิ่งที่ใหญ่ขึ้น พร้อม “เฟรมสวิงอาร์ม” ซัพด้วยโช้คน้ำมันแบบคู่ ก็ได้รับการติดตั้งดุมหน้า (แบบเสี้ยว) ขนาด 8 นิ้ว
1958 นี้ เสมือนการเดินทางมาถึงจุด “สุดขั้ว” ของโรงงาน Triumph ไลน์ผลิตหลักๆ ได้รับการยอมรับว่ามันสวยและดูเป็นรถสปอร์ตมากขึ้น T100 (Tiger100) โมเดล (รอง) สุดท้ายเลือกปรับหน้าตาให้หล่อขึ้นจากรถปี 1957 อีกเล็กน้อย บังโคลนหน้าหลังชิ้นเดียวฟอร์แมตใหม่ได้รับการติดตั้ง หนา โค้ง มน ตามสโลปล้อทั้งด้านหน้า/หลัง ชุดเกียร์ 4 สปีด วิวัฒนาการล่าสุดที่เรียกว่า “Slickshift” (ออโต้คลัตช์) ได้รับการติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน (ทั้ง 5T/T100) นี่คือคอนเซ็ปต์หลักที่วางเซ็กชั่นให้เป็น “รถสปอร์ต” ได้อย่างลงตัว เครื่องหมายการค้าโลโก้ “หีบเพลง” (Mouth-Organ) จากปี 1957 ยังคงได้รับการขานรับ มันมาพร้อมดุมหน้าเต็มรุ่นใหม่ขนาด 8 นิ้ว (ฝาดุมรัศมี) และถังน้ำมันขนาดความจุ 4 แกลลอน (15 ลิตร) คิ้วกลางถังกับตะแกรงเหล็ก 4 เส้น คือสรรพคุณโดดเด่นเฉพาะตัว ที่มาพร้อมสีสันคลาสสิกแบบดั้งเดิมด้วย โทนดำ-ครีม ทว่า กลับเป็นภาพลักษณ์…ใน…ความทรงจำ…ก่อน…ถูกแทนที่ด้วยรถหน้าตาแปลกๆ ที่มาพร้อมกระโปรงบานๆ (Bathtub) เครื่องยนต์ “เกียร์รวม” รหัส T100A ในปี…1960…!?!?!
ชุดกะโหลกไฟที่เป็นเอกลักษณ์ “หัวไอ้โม่ง” คือภาพลักษณ์ที่เจนตาที่สุด ไมล์ แอมป์ สวิตช์ไฟสูง/ ต่ำ ผ่านไปร่วม 60 ปี ไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว กะโหลกไมล์ลอย ความเร็ว-วัดรอบ บาร์ยกๆ กว้างๆ คือศิลปะร่วมสมัยที่ได้รับการออกแบบใน T100-Black
2015 Triumph Bonneville T100 Black
ถ้าคิดว่า Bonneville T100 นั้นดูหน่อมแน้ม เรามีโมเดลที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หลังรีแบรนด์และใช้แนวทางของรถรุ่นดังในอดีตมาเป็น “เรือธง” ล้อซี่ลวด ขอบล้อดำ เครื่องยนต์พาวเดอร์ดำ ตัดกับครีบเสื้อกลึงเส้นไฮไลต์ รวมถึงแฮนด์ กระจกมองข้างสีดำสนิท นี่คือรถจักรยานยนต์ที่บ่งบอกถึงตัวตนได้อย่างชัดเจนสำหรับ “ไบเกอร์สายทมิฬ” Bonneville T100 Black มาพร้อมขุมกำลังเครื่องยนต์สูบคู่ (Parallel Twin) 865 ซี.ซี. ที่ให้กำลังแรงม้าสูงถึง 68 แรงม้า กับแรงบิดขนาด 68 Nm ที่กำลังดีในรอบเครื่องยนต์ต่ำ “เสือดำ” คันนี้จึงเป็นมิตรกับผู้ใช้และมีกำลังมากเกินพอสำหรับการใช้ในเมืองและบนถนนหลวง แถมได้ชุดควบคุมน้ำมันแบบอิเล็กทรอนิกส์อันชาญฉลาด ทำให้เครื่องยนต์สามารส่งกำลังได้อย่างนุ่มนวลในทุกย่านความเร็ว แถมให้อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อยลงจากรถรุ่นก่อนหน้าอย่างเห็นได้…ชัดเจน…!?!?!
ถังน้ำมัน 14 แกลลอน ฝาถังวางขวา มีคิ้วสันถัง ตะแกรงเหนือถังแบบ 4 เส้น โลโก้ “หีบเพลง” พร้อมยางข้างถัง เอกลักษณ์ที่ยังคงได้อานิสงส์ ผิดที่รถรุ่นใหม่เป็นถังแบบโล้นๆ โลโก้ปรับรูปแบบใหม่ และยังคงยางข้างถังพอให้หายคิดถึง
T100’ 58 สวิงอาร์มชุดหลัง พร้อมโช้คอัพแบบคู่ในกระบอกทูโทน กับรูปทรงท่อพักที่ให้เสียงทุ้ม นุ่มหู T100-Black ดูโมเดิร์นในหน้าตาแบบต้นแบบ คันนี้ปรับโช้คคู่คอยล์สปริง กลับมาใช้ของสมัยใหม่ ที่เลือกหน้าตาย้อนยุคแบบรถต้นแบบ
ธิเชษฐ์ พวงสุวรรณ
“ถ้าเอานุ่มนวล ไว้ใจได้ ก็ต้องรุ่นนี้ นี่คือวิวัฒนาการสมัยใหม่ที่ยังถ่ายทอดไว้บนหน้าตา ตำนาน ธรรมเนียมจากรถรุ่นอดีต ถือว่าทำได้ใกล้เคียงที่สุดแล้ว แบบนี้แฟน Triumph รุ่นเก่าเห็นก็ต้องยิ้ม เหตุผลนี้กระมัง ที่ทำให้ชื่อของ Triumph กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ทั้งที่เริ่มทำแบรนด์ใหม่นี้ไม่นานนัก”
อวิรุทธ์ โตบัณฑิตย์
“ความฝันของเด็กผู้ชายนะ… เด็กๆ ไม่รู้หรอกว่ามันคือรุ่นอะไร รู้แค่ว่ามอเตอร์ไซค์แบบนี้เรียกว่า Triumph เท่านั้นแหละ แล้วทุกๆ ครั้งที่เห็นคนขี่บนถนน มันบอกถึงคาแรกเตอร์ตัวตนคนขี่ได้อย่างชัดเจน มันมีสไตล์ บอกกับตัวเองไว้เสมอๆ ว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากจะมีไว้ครอบครองให้หัวใจมันพองโต”