1965 Vespa 90SS
1965 Vespa 90SS
“สายซิ่งโรงงาน” กระบวนการคิดนอกกรอบรถ “ถังกลาง”
“รถสปอร์ตโรงงาน” ค่าย Vespa บอกเลยว่าต้อง “ล็อกสเป็ก” ช้อยส์เดียวที่เกิดขึ้นจากความชัดเจน ไลน์ผลิตเดียวที่อยากสร้างความ “แปลกใหม่” ทว่า กลับกลายเป็นเรื่องเศร้าที่พังครืน “กล้าคิด” ใช่ว่าจะ “ทำเงิน” มันไม่ประสบความสำเร็จในตอนต้น ทว่า กลับตาลปัตรเป็น “ตัวท็อป” หลังคล้อยเวลามาราว…5 ทศวรรษ!!!
90 Super Sprint (90SS) ถือเป็นรถ “พิเศษ” ที่เกิดขึ้นจากไลน์ผลิตปรกติของรถบอดี้เล็ก “Small Frame” ที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 1963 โดยความพิเศษที่ว่าคือ ต้องใช้ชิ้นส่วนประกอบที่มากกว่ารถรุ่นอื่นๆ ที่เคยทำกันมา โดยหวังเปิดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น “ขาซิ่ง” วัย 16 ฝน 16 หนาว ที่ต้องการแสวงหาของเล่นใหม่ๆ จากที่เจนตาในท้องตลาด รถ “ถังกลาง” และการหั่นเว้นส่วนของบังลมหน้าที่แคบ และสอบเข้าที่ด้านบน ซึ่งให้ผลดีเรื่องของการลดลมปะทะ แฮนเดิ้ลบาร์ที่สั้นกับปรับองศาให้ดร็อปลง เพิ่มความคล่องตัวบนท้องถนน นี่คือ “ข้อบ่งชี้” ถึงความพิเศษของชิ้นบอดี้ “สายซิ่ง” ที่รังสรรค์ออกมาให้เลือก 2 บล็อกเครื่องยนต์ (50/90 ซี.ซี.)
“ถังกลาง” เกิดขึ้นได้อย่างไร…?? มันเป็นอานิสงส์ที่ทีมออกแบบตั้งใจให้เสมือนเป็น “รถคัสตอม” ที่ออกจากโรงงาน โดยทำหน้าที่เป็น “เก๊ะใส่ของ” แทนที่ตำแหน่งของบอดี้รุ่นก่อนหน้า ที่เจาะช่องไว้ทางด้านซ้ายของกระโปรง อานิสงส์นี้ถูกผสมเข้ากับ “รถแข่ง” ที่เคยลงสนามของรุ่น 150GS ในปี 1955 ซึ่งตอนนั้นล้ออะไหล่ถูกติดตั้งไว้หลังบังลม SS จับมารวมกัน จนได้หน้าตาของรถที่ต่างออกไป และเมื่อเก๊ะ (ทรงถังน้ำมัน) ถูกติดตั้ง กลไกเปิด/ล็อกเบาะ ต้องปรับแก้ แนวทาง นี่สรุปด้วยการเปิดเบาะไปทางด้านหลัง (ล็อกที่ด้านหน้า) มันพิลึกพิลั่น ไม่น้อย
เหมือนจะเวิร์ค ทว่า “ถังกลาง” จุดขายหลักกลับเป็นอุปสรรค จะขึ้น จะลง หรือวางของ มันดูจะไม่สะดวกสบายนักหากจะซื้อหามาใช้สอย โดยเฉพาะลูกค้า “สุภาพสตรี” ข้อร้องเรียนนี้แว่วมาเข้าหูผู้ผลิต แถมในปีเดียวกัน (1965) โรงงานก็ออกรถไลน์ผลิตใหม่ หนนี้มันไม่มีถังกลาง แถมเครื่องยนต์ก็ขยับมาเป็น 125 ซี.ซี. ซะด้วย หลังครุ่นคิดสะระตะ (โดยเฉพาะเรื่องราคา) “New 125” (VMA1T) ไปได้สวยกว่า ถึงแม้ว่า 90SS จะเป็นรถที่เน้นเรื่องของ “สตรีมไลน์” และมีเทคโนโลยีขั้น “เพอร์ฟอร์แมนซ์” ทว่า ด้วย “ยอดขาย” ที่ไม่ขยับเท่าที่ควร ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่รถรุ่นนี้จะทำการผลิตต่อ เหลือไว้เพียงเรื่องบอกเล่าที่กล่าวถึง SS ในแง่ของกระบวนการออกแบบที่ “คิดนอกกรอบ” เท่านั้น….!?!?!
STORY / PHOTO : NUIAJS.