1968 BMW R60US
1968 BMW R60US
หน้ากระบอก ปลอกยาง ทัวริ่งเวอร์ชัน “อเมริกันโอนลี่”
“โอ๋ ชยพล” Turf Green และ “เอ๋ วิษณุ Caribe Blue” คู่หูสายนาซี ที่พิสมัยรถหน้ากระบอกอยู่เป็นทุน รถสวย สีแปลก แนวทาง “นอกกรอบ” ที่ต้องค้นหาคำตอบ
“สเป็ก’เมกา” ที่ว่าหายาก ก็ยังพอหาได้ ทว่า เป็น “เมกา” ผิวสี (ไม่) แทน นั้นเรียกว่าปิดประตูเจอกันเลย กระนั้น เมื่อสางกันยังไม่สิ้นความ ปลายสายสนทนาบอก มี “อยู่คู่” กับรถในโทนสีหม่น พิสัยการผลิตที่ไม่เจนโสต แถมได้สีตามโฉลกที่แหวกเรติน่า หนนี้ เราขยับเข้าระยะประชิด กับรถเที่ยว “เรทติ้งส่งออก” โมเดลหน้ากระบอก “เทเลสโคปิก” ในนามของชาติพันธุ์ R60US ที่ฝรั่งฝั่งโน้นเคลมว่า “มันถึก” ทนมือ ทนเท้า…เป็นที่สุด…!?!?!
เครื่องยนต์ 2 สูบนอนยัน 4 จังหวะ 594 ซี.ซี. 30 แรงม้าที่ 5,800 รอบ/นาที จาก R60/2 ขุมพลังที่ยังคงเชื่อมั่น มันจะแรง และยังคงทรงพลัง
หน้ากระบอก ปลอกยางกันฝุ่น (Telescopic Fork) แบบการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเน้นที่ “ตลาดอเมริกา” ลูกค้าอารมณ์ดิบๆ ที่ใช้งานแบบโหดๆ ช่วงหน้าแบบนี้ เบรกหนักๆ ไม่ชก ตกหลุมไม่กระเด้ง มันชัวร์กว่า ในย่านความเร็วสูงๆ
BODY/FRAME
1967-1969 BMW R60US ถือเป็นรถเจเนอเรชัน “สุดท้าย” ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นสู่จุดสูงสุดรุ่นหนึ่งของโรงงาน BMW ที่พาเหรดร่วมก๊วนบุกตะลุยเข้า “ตลาดอเมริกา” กันทั้ง R50US/R60US/R69US สำหรับแบบการผลิตที่เลือกจับเอาเครื่องยนต์ตัวแรงขนาด 30 แรงม้า (จากโมเดล R60/2) วางเข้ากับโครงสร้างเฟรม (245/3) หน้ากระบอก “เทเลสโคปิก” (Telescopic Fork) ที่ถือเป็นสเป็กมาตรฐานเพื่องาน “ส่งออก” มันให้สมรรถนะที่หวังผลได้ คล่องตัว และรับกับแรงกดกระแทกแบบกระชั้นและหนักมือได้ดีกว่าแบบ “สวิงอาร์ม” (Earles Fork) เรียกว่ามันตรงจริตจะก้าน และรสนิยมส่วนตัวของฝรั่งหัวทองย่านนี้ซะมากกว่า
เพราะเป็นรถ “แนวทัวริ่ง” บาร์ทรงสูง กับออปชันตกแต่งเพิ่มเติมเลือกกันตามพิสมัย มีวัดรอบ นาฬิกา สปอตไลต์นอสๆ เลนส์แดงของ Hella กับไฟเลี้ยวปลายแฮนด์ ของแต่งแปลกๆ เดี๋ยวนี้หาได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก มีเงินพอ หาได้ทุกชิ้น
ENGINE
ธรรมเนียมแรกเริ่มด้วยเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ Flat-Twin (1923-1969) ระบายความร้อนด้วยอากาศ ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1923 จากความคิดที่ว่า เครื่องยนต์ “สูบนอน” สามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า เพราะเสื้อสูบจะปะทะกับอากาศได้โดยตรง โดยความคิดดังกล่าวถือเป็นประเพณีที่ถูกสืบทอดยาวนานมากระทั่งปัจจุบัน ภายใต้รหัสเครื่องยนต์ที่สะอาดตาว่า “บล็อก R” ซึ่งผลิตออกจำหน่ายทั้ง ระบบไซด์วาล์ว (SV) และ โอเวอร์เฮดวาล์ว (OHV) โดยมีปริมาตรกระบอกสูบตั้งแต่ 494/594 และ 745 ซี.ซี.…จากไลน์ผลิตของ R60/2 มาดใหม่ในเวอร์ชัน “ส่งออก” นาม US-Spec. “หน้ากระบอก” ยังคงอานิสงส์ของรถรุ่นท็อปนี้ไปได้เต็มๆ เครื่องยนต์สเป็กหลักขนาด 594 ซี.ซี. บนปริมาตรกระบอกสูบ/ช่วงชัก เดิมที่ 72×73 มม. 30 แรงม้าที่ 5,800 รอบ/นาที เวอร์ชันสุดท้ายได้รับการพัฒนาอีกเล็กน้อย มันได้ทั้งรอบเครื่องยนต์ ในขณะที่แรงบิดสูงๆ จากกำลังอัดที่เคลมไว้ที่ 7.5:1 ก็ได้ใจ…เครื่องแรง…เฟรมแกร่ง…แฮนด์สูง…คือภาพถนัดที่ “เจนโสต” และเพราะไลน์ผลิตมีเพียงแค่ 3 ปี (1967-1969) จึงมีจำนวนผลิตในท้องตลาดไม่มากนัก
ถังเหลี่ยมเขียว “Turf Green” ของแต่ง Hoske RS1 ส่วนถังใหญ่น้ำเงิน “Caribe Blue” Schorsch Meier ชอบแบบไหน เลือกแบบนั้น ราคาแรงทั้งคู่ แต่ถ้าชอบไม่มีคำว่าแพง
TRANSMISSION
ระบบขับเคลื่อนด้วย “เพลา” อันเป็นเอกลักษณ์นั้น BMW ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ข้อดีในเรื่องการดูแลรักษาที่ไม่ต้องมีการปรับตั้ง และไร้เสียงรบกวนที่ชวนหัวเสียจึงเป็นข้อได้เปรียบ จากข้อกำหนดของชุด “เพลาหลัง” จากรุ่น R60/2 ที่ 8/27 มันเวิร์กดีอยู่แล้ว (R60/2 Side car 7/27) เมื่อได้โครงสร้างซัพหน้าแบบใหม่ (เทเลสโคปิก) มันเข้าคู่ แกนเพลาในกระบอกกลวงที่ช่วยป้องกันฝุ่นผงและความเสียหายอื่นใด อัตราทดเฟืองเกียร์เดิมแบบ 4 สปีด จาก R60/2 ที่ 4.17/2.73/1.94/1.54 ยังเป็นอนุกรมที่สัมฤทธิ์ผล ซึ่งดูจะลงตัวครอบคลุม ทั้งเครื่องยนต์ขนาด 494/594 ซี.ซี. ข้อบ่งชี้หนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเวอร์ชัน “ส่งออก”ทั้ง R50US/R60US/R69US ต่างพิสมัยอัตราทดเฟืองท้ายนี้ที่ 8/27 ซึ่งให้ผลเรื่องแรงฉุดกระชากที่หนักหน่วงกว่า…ซึ่งก็ตรงใจกับวิถีสายซิ่ง มือหนัก เท้าหนัก อย่าง… “ตลาด’ เมกา”…!?!?!
กระเป๋าเหลี่ยม Craven Golden Arrow ของแต่งแบรนด์การค้าของอังกฤษ อีกคันแบบ Enduro Saddle Bags อ้วนๆ อูมๆ แบบนี้เอกลักษณ์เฉพาะสายทัวริ่ง
เบาะยาว 2 ตอน พาร์ทแบบเดียวกับโรงงาน กับพันธมิตร Schorsch Meier ซัพด้วยสปริง เส้น หุ้มด้วยหนังแท้ มีคิ้วรอบเบาะ นุ่มก้น และใช้งานนานๆ ไม่เมื่อยล้า
ตะแกรงหลัง Denfeld Rack มากทั้งรสนิยม และอรรถประโยชน์ในทางใช้งาน
1968 BMW R60US
รถ/รุ่น BMW R60US
ปีผลิต 1967-1969
จำนวนผลิต 17,306 คัน (รวมไลน์ผลิตจากรุ่น R60/2)
เจ้าของ โอ๋ ชยพล Turf Green / เอ๋ วิษณุ Caribe Blue
เครื่องยนต์ 2 สูบนอนยัน 4 จังหวะ 594 ซี.ซี. 30 แรงม้าที่ 5,800 รอบ/นาที
กระบอกสูบ/ช่วงชัก 72/73 มม.
กำลังอัด 7.5 : 1
ระบบไฟ Bosch LJ/CGE 60/6/1700 R
คาร์บูเรเตอร์ 2 x Bing 1/24/151-1/24/152
ระบบเกียร์ 4 เกียร์ (เท้า)
ระบบคลัตช์ แห้ง (แผ่นเดียว)
ระบบขับเคลื่อน เพลา 8/27 ฟัน
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) เทเลสโคปิก/สวิงอาร์มโช้คน้ำมันไฮดรอลิก
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (ดุมเสี้ยวขนาด 200 มม.) (บนล้อหน้า 3.50/18/ หลัง 4.00/18)
น้ำหนักรวม 195 กก.
มิติ (ก/ย/ส) 660/ 2,137/ 980 มม.
ฐานล้อ 1,427 มม.
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 5.0 ลิตร/100 กม.
ความเร็วสูงสุด 145 กม./ชม.
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: BMW PROFILE 1923-1969 / BMW MANUFACTURING MUNICH
Story : nuiAJS/ Photo : Kwang GPI. Photo Dep.