1970 Vespa 125 Primavera
1970 Vespa 125 Primavera
รถเล็ก-เครื่องใหญ่ ราชินีแห่งท้องทุ่ง “ใบไม้ผลิ”
ห่างหาย “ซุ้มเอกชัย” มาสักระยะ ทว่า ก็แอบเข้าไปแอบส่อง “คนเล่น” ย่านนี้อยู่เนืองๆ…ต่อ…กระแสสะพัดที่แว่วมาเข้าโสต รถสวยๆ จากสายเหนือ คือ “รสนิยม” คันเอี่ยมที่เพิ่งจะระเห็จเข้าสู่เมืองหลวง…ต่อ..กระแสรถ “เฟรมเล็ก” (Small Frame) ที่การณ์นี้ “สนนราคา” นั้น “ใหญ่” ล้ำเกินตัวไม่มาก ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ นี่คือ 125 Primavera คันแรก…ที่…เพิ่งจะผ่านมือ…ทีมงาน…!?!?!
Vespa 125 Nuova
“โนว่า” (ใหม่) เครื่องยนต์ 125 ซี.ซี. รถไลน์ผลิตใหม่นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่รถ “เฟรมเล็ก” (Small Frame) คันแรกที่หลุดออกจากโรงงานของ Piaggio ในปี 1963 ซึ่งไลน์ผลิตต้นนั้นมาพร้อมกับเครื่องยนต์บล็อกเล็กขนาด 50 ซี.ซี. และใช้เวลาราว 2 ปีกับการพัฒนาและอัพเกรดกระบอกจนได้ซี.ซี. มากที่สุด สำหรับรถหน้าตาที่ยังคงสวยงาม คลาสสิก ในแบบรถขึ้นรูปตัวถังแบบ “โมโนค็อก” ดั้งเดิม บนการทำงานของเครื่องยนต์แบบ “โรตารี่วาล์ว” วางทำมุมขนาด 45 องศา 4.8 แรงม้าที่รอบเครื่องยนต์ทำงาน 4,500 รอบ/นาที นี่คือจุดขายที่เปิดตัวในปี 1965 และสามารถสร้างยอดขายรวมได้ถึง 17,000 คัน
Vespa 125 Primavera
โปรดักต์ที่เปิดตัวฉลุยในจุดขายใหม่ “ดีที่สุด-แรงที่สุด” ที่ต้องการ “ดันยอด” จากรถปี 1967 ไลน์ผลิตที่ 2 ได้รับการพัฒนาในชื่อรุ่น “พรีมาเวอร่า” (ฤดูใบไม้ผลิ) เครื่องยนต์ได้รับการพัฒนาในส่วนของกำลังอัดใหม่ แม้มันไม่มากนัก ทว่า ก็ให้อัตราไหล “ตีนปลาย” นั้นดีขึ้นที่ 5.56 แรงม้าที่รอบเครื่องยนต์ทำงาน 5,500 รอบ/นาที บนบอดี้ที่ได้รับการปรับขนาดให้มีความเป็นรถสปอร์ตมากยิ่งขึ้น Primavera มีตัวถังที่ยาวขึ้น แต่ความกว้างของบังลมและแป้นวางเท้า ถูกบีบให้แคบลง ซึ่งช่วยลดกระแสลมปะทะได้ดีกว่า และถือเป็นรถรุ่นแรกที่ Vespa หันมาใช้เครื่องหมายการค้าใหม่แบบ “หกเหลี่ยม” (ใบโพธิ์) แทนโลโก้ตัว “P” แบบเก่า โลโก้หน้าที่ฝังยึดด้วยหมุดตัวอักษร “Vespa 125” และลายเซ็นท้าย “Primavera” ถูกวางไว้ท้ายบอดี้เหนือไฟท้ายทรงเหลี่ยม ที่ใช้แบบเดียวกับรุ่น Vespa 90SS ไม่มาก ไม่น้อย ตลอดไลน์ผลิตของ Primavera เพียง 14 ปี นี่คือรถ “เฟรมเล็ก-เครื่องใหญ่” ที่สามารถสร้างยอดขายรวมได้มากถึง 240,000 คัน นี่คือข้อ “การันตี” ว่า 125 Primavera นั้น…เจ๋งสุด…!?!?!
Vespa 125 Primavera ET3
1976 ระหว่างไลน์ผลิตปรกติ โรงงานพัฒนาระบบ “จุดระเบิด” สำหรับเครื่องยนต์บล็อกใหม่ การเผาไหม้ที่หมดจดและแม่นยำมากขึ้น นี่คือไลน์ผลิตที่ 3 พี่พ่วงเอาระบบ Electronic เข้ามาทำงานร่วมกับเสื้อสูบแบบ 3 พอร์ท โดยเพิ่ม “พอร์ทไอเสีย” เข้ามาจัดการไล่ไอเสียที่เร็วกว่า ลดการสะสมความร้อนในห้องเผาไหม้ เครื่องยนต์เย็นเร็ว และช่วยให้การใช้สอยน้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นี่คืออานิสงส์ของไลน์ผลิตรถใหญ่ Rally 200 ที่เคยคลอดสู่ตลาดมาแล้วในปี 1972 อย่างไรก็ตาม ตลอดไลน์ผลิต1976-1983 125 Primavera ET3 ก็สะสมเงินให้โรงงานได้มากสุดเพียง 144,000 คัน…เท่านั้น…!?!?!
1970 Vespa 125 Primavera
รถ PIAGGIO / Vespa
รุ่น / ปี 1970 Vespa 125 Primavera
เจ้าของ ต๋อง เอกชัย
เครื่องยนต์ 1 สูบ 2 จังหวะ 121 ซี.ซี. 5.56 แรงม้า @ 5,500 rpm
ระบายความร้อนด้วยพัดลม
กระบอกสูบ / ช่วงชัก 55 / 51 มม.
ระบบ ไฟ ทองขาว 6 v
ระบบเกียร์ 4 เกียร์ (มือ)
ระบบคลัตช์ เปียก (หลายแผ่น)
ระบบจ่ายน้ำมัน คาร์บูเรเตอร์ Dell’orto
ระบบขับเคลื่อน เฟือง
ระบบโช้คอัพ (หน้า / หลัง) คอยล์สปริง / โช้คกระบอก (ไฮดรอลิก)
ระบบเบรก (หน้า / หลัง) ดรัมเบรก (ดุมหน้าหน้า 125 มม. / หลัง 150 มม.)
ล้อ / ยาง (หน้า / หลัง) 3.00 x 10 นิ้ว
ความจุเชื้อเพลิง 5.6 ลิตร
กว้าง / ยาว / สูง 670 / 1,655 / 1,005 มม.
ฐานล้อ 1,180 มม.
น้ำหนัก 78 กก.
อ้างอิง : VESPA STYLE IN MOTION / Roberto Segoni
: 1946-2006 60 YEARS OF THE VESPA / Giogio Sarti