Triumph Sprung Hub “โช้คดุม”…นวัตกรรมอากาศยาน!!!
Triumph Sprung Hub
“โช้คดุม”…นวัตกรรมอากาศยาน!!!
จัดให้ในแบบ “แพ็คคู่” กับรถ “โช้คดุม” พันธุ์เก๋าจากเครื่องหมายการค้าของ Triumph หนนี้ ออกหมัดกันกลางแจ้ง จอดเด่นๆ เน้นท่าหล่อๆ กลางสายฝน กับสภาพอากาศที่ขมุกขมัวกันทั้งวัน วันนี้คิวของทีมงาน “เมืองชลฯ” ที่ขนรถออกมาอวดโสตกันหนาตา ทั้งเก๋า ทั้งลึก แถมด้วย “ล้อเล็ก” ตัวเจ็บๆ ได้สนองนี้ด สบายละ มาวันนี้จัดไว้โม้กันได้ทั้งปี ทว่า หนนี้ ขอ “ดิวแรก” ด้วยรถสุดโก๋ ทั้ง “ทีเบิร์ด” ทั้ง “สปีด” ในออปชันที่ได้รับการยอมรับว่า…หล่อสุด…!?!?!
ระบบรับแรงกระแทกหลัง แกนล้อขึ้น-ลง (ซัพแรง) ภายในก้อนดุมเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 8 นิ้ว ระบบแอฟซอฟต์ที่พัฒนาขึ้นใหม่จากนวัตกรรมอากาศยาน (ภาพร่างที่เผยให้เห็นชิ้นส่วนการทำงานของ “โช้คดุม” Sprung Hub) สำหรับชิ้นส่วนของล้อเครื่องบิน ที่ได้แรงบันดาลใจจากรุ่น Gloster Gladistor
Sprung Hub : “โช้คดุม” ระบบรับแรงกระแทกของ Triumph ที่ได้รับการออกแบบขึ้นโดย Edward Turner วิศวกรชั้นครู หลังโดดเข้าร่วมรังสรรค์รถโมเดลสปอร์ตรุ่นใหม่ให้กับไทรอัมพ์ จะเรียกว่าเป็น “ออปชัน” ก็เห็นจะได้ มันถูกผนวกเข้ากับรถโครงสร้างแบบ “หลังแข็ง” โมเดลในไลน์ผลิต ที่ช่วยการให้ขับขี่เป็นไปอย่างนุ่มนวล (ขึ้น) ซึ่งนั่นนำมาซึ่งความ “ปลอดภัย” ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
Design and Development : Edward Turner…ไม่ได้คิดเอง!!! ทว่า แรงบันดาลใจนี้เกิดขึ้นหลังการได้เห็นดุมของ Dowty บริษัทพัฒนาอากาศยานของอังกฤษ ระบบนี้ช่วยการลงจอดของเครื่องบินในรุ่น Gloster Gladistor มันเข้าตา ในวันที่เอ็ดเวิร์ดกำลังมองหาระบบช่วงล่างที่ไม่อยากให้เหมือนกับ “โช้คสไลด์” มันต้องดูเล็ก และไม่บดบังความงามของรูปทรงรถ สปริงซับแรงในเบ้ายาง พร้อมชุดกลไก ถูกวางรับกับแกนล้อหลังที่ร้อยผ่าน ที่สามารถให้ตัวขึ้น-ลงในแนวตั้งฉากได้ถึง 2 นิ้ว ด้วยชุดกลไกใหม่นี้ มันตอบโจทย์ ทว่า ก็มีน้ำหนักเฉพาะส่วนของดุมมากถึง 17 ปอนด์ (7.7 กก.)
Edward Turner ใช้เวลากับการพัฒนา “โช้คดุม” นี้ร่วม 2 ปี ก่อนคิดว่าจะจับใส่ในรถไลน์ผลิตปี 1940 ทว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 (WW-II) เกิดขึ้นเสียก่อน เราจึงมีโอกาสได้เห็น “โช้คดุม” ครั้งแรกในปีรถเครื่องยนต์จุดระเบิดคู่ (Parallel Twin) ขนาด 500 ซี.ซี. ในปี 1947 และพัฒนาในรุ่น MK-II ในรถเวอร์ชันปี 1950 ซึ่งโรงงานเคลมว่า มันดูแลรักษาง่าย เพียงแค่การอัดจาระบีในทุกๆ 20,000 ไมล์ (32,000 กม.) เท่านั้น น่าเสียดายที่ “โช้คดุม” ถูกผลิตใช้ถึงราวปี 1953 เท่านั้น
1950 Triumph 6T Sprung Hub :
คลื่นลูกใหม่….ในนามของ Thunderbird ถูกปลุกขึ้นจากความทรงจำ รถ “เครื่องใหญ่บล็อก” ปฐมบทคือขุมพลังที่ได้รับการอัพเกรด โครงสร้างเฟรมแบบ “ฮาร์ดเทล-หน้าสปริง” ถูกปลดระวาง ก่อนจับวางบนโครงสร้างแบบเทเลสโคปิก และซัพหลังแกนสปริงในดุมที่เรียกขานเป็นสรรพนามทางการว่า Sprung Hub นี่คือดีไซน์ขั้น “สุดขั้ว” ที่ Edward Turner เจ้าของโปรเจ็กต์นั้นปรับใช้ มันล้ำสมัยที่สุดในยุคก็ว่าได้ เครื่องยนต์ที่ทรงพลัง แต่ทำงานนุ่มนวล และขับขี่ได้อย่างสนุกสนามตามสไตล์โก๋เก่า นี่คือจุดขายที่โรงงานกล้าการันตีออกสื่อ…ว่า…นี่คือ…มอเตอร์ไซค์ที่…ดี…ที่สุดของโลก!!! (Best Motorcycle in the World)
เครื่องยนต์บล็อกใหญ่ปีแรกในรุ่น “วิหคสายฟ้า” เสื้อเหล็ก ฝาเหล็ก แบบ OHV-Parallel Twin 2 สูบ 4 จังหวะ 649 ซี.ซี. 34 แรงม้าที่ 6,500 รอบ/นาที
เข้าของอัพเกรดด้วยชุดแต่งแมกนีโตรุ่นใหม่ ไดชาร์จแต่งเพื่อให้กำลังไฟที่แม่นนำ สม่ำเสมอ เพิ่มลูกเล่นท้อน้ำมัน ฝาวาล์ว อะลูมิเนียมบิลลิ่งพร้อมระบายความร้อน กับกลไก Super Clutch ทดแรงที่นุ่ม แก้ไขปัญหาคลัตช์แข็งในรถโมเดลปีลึก
“วิหคสายฟ้า” ต่อยอดด้วยการพัฒนาโมเดลในปี 1951 การปรับเปลี่ยนคาร์บูเรเตอร์ให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจาก 1 นิ้วเป็น 1 1/16 นิ้ว ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้ดีขึ้น ดุมเบรกหน้า (แบบเสี้ยว) ขนาด 7 นิ้ว จากรุ่นหลังแข็งได้รับการติดตั้งเข้ากับดุมหลังเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว ที่เพิ่มกลไกซัพแรงไว้ภายในดุม ความชาญฉลาดที่ได้รับการออกแบบนี้ แม้จะถูกคู่ต่อสู้ค่อนแคะว่ามันให้ผลลัพธ์ไม่สู้ดีนัก ทั้งการดูดซัพแรงกระแทก เสถียรภาพในการควบคุม อีกทั้งสนนราคาที่วางจำหน่ายในท้องตลาดก็จัดว่า “แพง” ทว่า ทีมออกแบบก็ยังคงมั่นใจ เลือกใช้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน…กระทั่ง…ปี 1953
ฝาไพรมารี่ยาว รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ทรงหยดน้ำ วัสดุอะลูมิเนียม
เบาะเดี่ยวสปริงเบิลคู่ กับเบาะซ้อนเหล็กสปริงที่ต้องมี ขยายขนาดกว้างขึ้น นั่งสบายขึ้น และรูปทรงที่ละม้ายคล้ายของรถปีลึกรถหน้ากระบอกแบรนด์คู่ปรับ (BMW)
“โก๋’กิด” ต้องแฮนด์ยก ธรรมดาก็ไม่มันส์ซิ จัดชุดใหญ่ตรงรุ่น บาร์ Dogbone ชุดแรกที่เห็นสำหรับรถ Triumph
ไอ้โม่งหัวไฟ เพราะเป็นรถแรก 1950 ฟอร์แมทแรกขอรุ่นโช้คดุม เป็นช่องตะแกรงเจาะเพียว
1952 Triumph 5T Sprung Hub : โมเดลอานิสงส์ที่ได้รับการอัพเกรดระบบรับแรงกระแทก (หลัง) ในรุ่น Mk-II เข้ากับเฟรมแบบหลังแข็งไลน์ผลิตของรุ่น “สปีด ทวิน” ที่ถือเป็นรถที่ประสบความสำเร็จ “มากที่สุดของไทรอัมพ์” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1938 เครื่องยนต์ที่ทรงพลัง แรงบิดที่สูง กับภาพลักษณ์ของถังสีโครม “แดงน้ำหมาก” (Amaranth red) เดินเส้นสีทอง เสื้อสูบเหล็ก 6 สตัท คือภาพลักษณ์สุดท้ายก่อนที่โรงงานผลิตในโคเวนทรีจะ…โดน…เยอรมันบอมบ์ในค่ำคืนของวันที่ 14 พฤศจิกายน 1940 จนเครื่องยนต์รหัส 5T ต้องหยุดการผลิต “อังกฤษ” โดดเข้าร่วมสงครามอย่างจริงจัง ไลน์ผลิต 2 ล้อถูกโยกเป็นยุทโธปกรณ์มากกว่า 1,000 คัน เพื่อผลิตป้อนให้กับกองทัพ แต่ถูกลดสเป็กเหลือเพียงเครื่องยนต์แบบ ซิงเกิล-หลังแข็ง เท่านั้น (3HW)
เครื่องยนต์บล็อกกลาง “สปีดทวิน” เสื้อเหล็ก ฝาเหล็กแบบ OHV-Parallel Twin 2 สูบ 4 จังหวะ 498 ซี.ซี. 27 แรงม้าที่ 6,300 รอบ/นาที
ระบบไฟแบบจานจ่าย มีมัดไฟทุ่นปั่นไฟเลี้ยงเครื่องยนต์
ไพรมารี่ หน้าตาแปลกออกไป หน้าเครื่องเป็นทุ่นไฟ หมุนตัดขดลวดได้กำลังไฟ ฟอร์แมตของฝาตลัตช์เลยออกรีๆ ข้อบ่งตาที่ผิดแผกจากรุ่น “แมกนีโต”
1946 หลัง “พันธมิตรมีชัย” โรงงานแห่งใหม่ใน Meriden กลับมาผลิต Speed Twin ในไลน์ปี 1946 หน้ากระบอก หลังแข็ง และมี “โช้คดุม” ให้เลือกเป็นออปชัน จากโมเดล “ไมล์บนถัง” ถูกพัฒนาอีกครั้งไปไว้บนกะโหลกไอ้โม่งไฟที่ Edward Turner ออกแบบใหม่ในโมเดลปี 1949 โมเดลนี้ถูกผลิตถ่ายทอดต่อเนื่องถึงปี 1953 และอัพเกรดอีกครั้งด้วยระบบไฟของ Lucas แบบไฟทุ่น (Generator) และจุดระเบิดด้วยแบตเตอรี่-ฟีลคอยล์ (Coil-ignition) แทนที่ชุดไฟแบบเก่า ที่เป็นการทำงานร่วมระหว่างไดชาร์จและ…แมกนีโต…!?!?!
เดิมๆ ด้วยเบาะเดี่ยว สปริงซับ เบิ้ลหลังด้วยโครงเบาะซ้อนสปริงขด ซัพด้วยแผ่นหนังรองด้วยฟองน้ำบางๆ
ไฟหรี่ใต้กะโหลกไฟ บ้านเราเรียก “ไฟคาง” จุดตายของรถปี 1952 หายากและผลิตปีเดียว วิวัฒนาการจากซี่ร่อง ในรุ่นปี 1950-51