1938 Harley-Davidson WL45
1938 Harley-Davidson WL45
เรื่องเล่าก่อนเข้า…สงคราม!!!
ถึก อึด แกร่ง และไม่เน้นงานเซอร์วิสอะไรที่มากนัก คุณสมับติของบล็อกเครื่องยนต์แบบ WL45 ที่พัฒนาครั้งแรกตั้งแต่ปี 1929 บอดี้สวยๆ แบบรถพลเรือน WL ความงามที่มาพร้อมการขับขี่ที่นุ่มนวล สตาร์ตเบา บอดี้เจ้าของคนเอเชียแบบนี้ซิโดนใจ
ชื่อก็ต้องเชื่อว่า “รถมันเลือกนาย” จริงๆ เรามีสตอรี่หนึ่งเม้าท์ให้ได้เสพ “7 แรง” คันนี้เพื่อนผมชวนไปดูที่ชลบุรี เขาเปิดขายไว้ที่ 3.5 แสน เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมมองว่ามันเกินกำลังเรามากๆ ได้แค่ฝัน ไม่มีปัญญาหรอก ก็กลับบ้านไปประกอบสัมมาอาชีพกันตามปรกติ วันหนึ่ง “ผมพร้อม” ก็อยากกลับไปตามฝัน ผมพร้อมไปดูรถ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ มันคือ “7 แรง” คันที่ผมเจอเมื่อ 6 ปีก่อน วันนี้ผมพร้อม ผมก็เลยรับกลับมาบ้าน ทั้งที่รถคันนี้เปลี่ยนเจ้าของไปแล้วหลายต่อหลายมือ”…อืม…เรื่องแบบนี้เล่ากี่ทีก็…ขนลุก !?!?!
เครื่องยนต์แรงอัดสูงแบบ SV 4 จังหวะ V-TWIN 740 ซี.ซี. 25 แรงม้าที่ 4,600 รอบ/นาที จ่ายเชื้อเพลิงคาร์บูเรเตอร์ และชุดไฟแบบจานจ่าย เรียบๆ ในแบบแมคานิก จัดแต่งปลอกก้านกระทุ้งชุบทองเหลืองให้ดูตัดกัน
ขับหน้าไพรมารี่ ฝาครอบเหล็กปั๊มขึ้นรูป กับระบบตัดคลัตช์เท้า ระบบการทำงานของชุดขับเคลื่อนของรถรอยต่อยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
WL คือพื้นฐานเครื่องยนต์ “แรงอัดสูง” ของ Harley-Davidson แบบ SV ขนาด 45 คิวฯ (740 ซี.ซี.) ซึ่งในบ้านเราส่วนใหญ่มักหมายรวมถึงรถ “ปลดประจำการ” จากหน่วยงานของภาครัฐ (ทหาร) ชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายตามยถากรรม…ณ ห้วงหนึ่ง…กลับหลุดถึงมือประชาชนผู้พิสมัยรถนอกแบรนด์นี้เข้าอย่างจงใจ การบูรณะตามแนวทาง “อนุรักษ์นิยม” ยังคงได้รับการขานรับจนเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ตามเทรนด์โคลนนิ่งในดวงใจ ทั้ง…พลเรือน (WL) …อาร์มี่ (WLA)…กระทั่ง เรซซิ่งแพลชแทร็ก (WR) ภายใต้เครื่องยนต์สุดคุ้มบล็อกนี้…อย่างที่เข้าใจว่าผลผลิตเครื่องยนต์ “ไซด์วาล์ว” (SV) รหัส WL45 นี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อเหตุผลทาง “การเมือง” ที่เริ่มคุกรุ่นในปลายของยุคปี 1937…เครื่องยนต์วาล์วข้าง V45 ที่ไม่ซับซ้อน ทว่า เปี่ยมด้วยสมรรถนะ อึด ถึก แกร่ง อีกทั้งไม่เน้นการดูแลรักษามากนัก คือ “คุณสมบัติ” ที่พร้อมลุย “สัญญาจ้าง” ถูกเซ็นขึ้นเป็นวาระเร่งด่วน ก่อนที่อเมริกาจะประกาศกร้าวเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 (WWII) แบบเต็มตัวในปี 1941…โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ในมิลวอกี้กว่า 1 ใน 4 ถูกปรับเพื่อสนับสนุนงานยุทธการในการณ์นี้ ทั้งในส่วนของการผลิตรถจักรยานยนต์และฝ่ายสนับสนุนงานซ่อมบำรุง ทว่า ก็ยังเหลือไลน์ผลิตส่วนหนึ่งเพื่อการพาณิชย์ที่ยังคงมีออเดอร์ เครื่องยนต์จากบล็อก WL “พลเรือน” ยังคงเป็นโมเดลที่ยังคงไหลลื่น ทั้งซีรีส์ D/C และ WR
มุมมองที่น่าหลงใหลของรถ “เกียร์มือ” บาร์ปีกนกทรงกว้าง ขวาคันเร่งน้ำมันในปลอก ซ้ายคือปลอกมือเร่งไฟอ่อน/แก่ กับชุดหน้าระบบสปริงเกอร์พลเรือน “WL” เน้นดีไซน์บนบังโคลนที่มีสันเดินคิ้วโครมตามตะเข็บ ไฟหน้าที่ด้านบน แตรล่าง กับสปอตไลต์คู่
1945 สงครามโลกครั้งที่ 2…สงบลง!!!…ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์สำหรับเครื่องยนต์ WLA กว่า 90,000 คันที่ถูกใช้แลกกับความสำเร็จที่อเมริกาเองก็ภาคภูมิใจเป็นยิ่งนัก โครงการผลิตรถในเชิงพาณิชย์ (WL) ก็กลับมาทำงานอย่างเต็มระบบอีกครั้งในปลายเดือนพฤศจิกายน 1945 เครื่องยนต์ SV ในสายการผลิตที่ยังหลงเหลือถูกหยิบจับมาปัดฝุ่นบนโครงสร้างและออปชันสำหรับพลเรือน บังโคลนหน้าเพิ่มเหลี่ยมสันที่สวยงาม ออปชันทหารดิบๆ ถูกแทนที่ด้วยความมันวาวจากโครเมียมบนสีสันภายนอกที่เพิ่มความสดใส ล้อหน้าหลังปรับลดขนาดลงเหลือ 16 นิ้ว (เดิมใช้ขนาด 18 นิ้ว) และขยายหน้ายางเป็น 4.6 นิ้ว ความภาคภูมิใจสำหรับผู้ที่ครอบครองในฐานะของ “ราชัญแห่งสงคราม” มันจึงเป็นความคลั่งรถอเมริกันชนรหัส “WL” ได้อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่ง “สยาม” เอง หนึ่งในฝ่าย “สัมพันธมิตร” ที่ร่วมก๊วนก็ยังคงรับอานิสงส์นั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…!?!?!
เกียร์มือแบบเดินหน้า 3 สปีด เพราะเป็นโมเดลก่อนสงคราม พาร์ทที่เรียกว่ารุ่น “เกียร์เล็ก” ตรงรุ่นสำหรับรถพลเรือน WL
1938 Harley-Davidson WL45
รถ HARLEY-DAVIDSON
รุ่น WL45
เจ้าของ หนู ระยอง
เครื่องยนต์ SV 4 จังหวะ V-TWIN 750 ซี.ซี. 25 แรงม้าที่ 4,600 รอบ/นาที
ความเร็วสูงสุด 80 ไมล์ / ชั่วโมง (129 กม. / ชม.)
ระบบไฟ จานจ่าย
ระบบเกียร์ เกียร์มือ 3 เกียร์ (เล็ก)
ระบบคลัตช์ แห้ง
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) สปริงเกอร์ (Springer) / หลังแข็ง (Rigid)
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (ดุมเสี้ยว) บนล้อขนาด 16 นิ้ว
น้ำหนักตัวรถ 240 กก. (530 ปอนด์)
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: www.harley-davidson.com
มาตรวัดฝังเหนือถังน้ำมัน ฝาถังน้ำมันคู่ (ซ้ายเชื้อเพลิง/ขวาน้ำมันเครื่องยนต์) เรียบ หรู ดูมีสไตล์
“เบาะไอ้เข้” บ้างก็เรียก “ตะพาบ” เบาะใหญ่ซ้อนเดี่ยวก็ได้ ซ้อน 2 ก็ดี เพิ่มออปชัน สปริงซัพแรงได้ ที่ด้านล่างของตัวเบาะ
ความอ่อนช้อยของนิ้วเบรกหน้าของรถปีลึก กับสวิตช์การทำงานข้างปลอกเร่งไฟ
STORY : NuiAJS / PHOTO : Kwang GPI.Photo Dep.