1947 Indian Chief ปรับให้หรู ปรุงให้หรา ครุยเซอร์ขั้นเทพ “หัวหน้าเผ่า”
STORY/ PHOTO : nuiAJS
…Chief กับภาพลักษณ์ หน้าตะเกียบสริงเกอร์ โช้คสไลด์ กระโปรงบาน มีชีวิตชีวาอีกครั้งในปี 1946 มันสวยสุด แถมยังวิ่งอีกต่างหาก โรงงานงานเคลมว่า มันสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 85 ไมล์/ ชม. (136 กม./ชม.) สำหรับรุ่นสแตนดาร์ด
เลี่ยม…เหมือนหลุดออกมาจาก “แคตาล็อกฝรั่ง” กับเครื่องหมายการค้า “อินเดียน” รถหลบหลืบที่การณ์นี้ “สยามประเทศ” ผุดขึ้นให้เห็นอยู่เนืองๆ “จิ๊กซอร์-อิมพอร์ท” ของเล่นผู้ใหญ่อัตราส่วน 1:1 ที่ต้องอาศัยพิศมัยเสพจนเกินกรอบ จาก…วัน..เดือน…เข้าสู่หน่วยวัดเวลา “ปี” อุสาหะ-กรรม คือผมตอบแทน…เป็น…รถสีเนี๊ยบ โมเดลท็อปไลน์ ในนามของ “ชิฟ เจ็ด-สี่-คิวฯ” ที่จำนนท์อยู่ตรงหน้า ผลงาน “รวมสรรพ” ที่เพิ่งคลอด…ออก…มาจากโรงงานทำรถคัสตอมนาม…อิล-ลิ-เม้นท์…!?!?!
1901 ด้วยฐานการผลิตเครื่องยนต์ใน Springfield รัฐ Massachusetts “รถจักรยานยนต์คันแรก” เครื่องยนต์ 288 ซี.ซี. ก็ได้โลดแล่นบนท้องถนน…Indian พัฒนาและออกแบบรถจักรยายนต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อการใช้สอยในประเทศอย่างกว้างขวาง ด้วยพิมพ์เขียวโครงสร้างเฟรม “หน้าแหนบ หลังแข็ง” กับเครื่องยนต์บล๊อกใหม่แบบ V-Twin ทำมุม 42 องศาที่พัฒนาความจุขึ้นถึง 1,000 ซี.ซี. (61 คิวฯ) ก็เกิดขึ้นในปี 1907 นี่เอง มันแจ้งเกิด และกลายเป็นสัญลักษณ์ของ Indian ไปโดยปริยาย ในขณะที่คู่แข่งนาม Harley-Davidson ที่ดูเหมือนจะเป็นพระรองในตอนต้น แต่ด้วยรูปแบบการผลิต สมรรถนะ หน้าตา เครื่องยนต์ ที่ใกล้เคียงกัน “ทั้งคู่” กำลังดวลหมัดกันสนุกมือ โดยหวังให้ “ผู้บริโภค” ในท้องตลาดเป็นผู้ตัดสิน…ว่า…จะจบลงที่ความจงรักภักดีกับแบรนด์ผู้ผลิตใด
ด้วยการวาง “จุดขาย” ที่ต่างออกไป Indian เลือกใช้ระบบการทำงานสั่งผ่านชุดเกียร์ (มือ) ที่วางไว้ด้าน “ขวา” ของตัวรถ คันเร่งน้ำมันในปลอกมือไว้ทางด้าน “ซ้าย” ส่วนกลไกปรับตั้งไฟถูกวางไว้ทางด้านขวา (Harley-Davidson วางไว้ในตำแหน่งตรงกันข้าม) “ความต่างที่ตั้งใจ” นี้ ลึกๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี…ยาก…ที่ใครจะวาศอก Indian เลือกแนวทางของตัวเองและมุ่งมั่นที่จะทำตลาดในแนวทางที่ถนัด ภายใต้งานออกแบบ วิศวกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง…ชื่อของ Scout เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1920 จากฝีมือนักออกแบบและสร้างสรรค์นาม Charles B. Frankin วิศวกรสายเลือด “ไอริช” …Scout เลือกใช้เครื่องยนต์ขนาดกลาง (500-750 ซี.ซี.) ในขณะที่ Chief (1922) เลือกใช้ขุมพลังที่มากกว่าขนาด 61 คิวฯ (1,000 ซี.ซี.) และขยายความจุนั้นอีกครั้งเป็น 74 คิวฯ (1,200 ซี.ซี.) ในปี 1928…หลังจากนั้น ไม่มีใครเชื่อว่า Indian จะขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก กิจการส่วนใหญ่ถูกขายให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่นาม E Paul DuPont ที่เข้ามากุมบังเหียร และเริ่มมีการใช้โลโก้แบรนด์การค้า รูป “หัวหน้าเผ่า” ในปี 1934 นี่เอง ซึ่ง Indian ภูมิอก ภูมิใจ ที่จะติดตั้งไว้ที่บริเวณด้านหน้าของบังโคลน และแก้มซ้าย/ ขวา ของถังน้ำมัน ซึ่งถือเป็นรถเจนเนเรชั่นที่ 2 ที่ยังคงยึดโครงสร้างแบบ หน้าแหนบ หลังแข็ง
1940 Indian มาถึง “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญ (เจนเนเรชั่นที่ 3) ทุกโมเดลที่ผลิตออกจากโรงงาน เลือกใช้โครงสร้างแบบ “หน้าแหนบ” (Leaf-Spring) ที่ผนวกเข้ากับระบบซับแรงหลังด้วย “โช้คสไลด์” (Plunger) กับภาพลักษณ์ของเฟนเดอร์ “กระโปรงบาน” (Skirted Fender) ความล้ำสมัยนี้ โดดเด่น เตะตา ขับขี่สบายระดับเดอร์ลุค มันอวดโฉมต่อสาธารณะชนจน…ตื่นตะลึง!!! กระทั่ง “คู่แข่ง” เองยังยอมรับ เพราะ ณ เวลานั้น Harley-Davidson ยังคงใช้เฟรมแบบหลังแข็ง (Rigid) อยู่เลย…ทว่า ก็มาไม่ถูกจังหวะ อเมริกาจับมือยุโรปเกิด “ฝ่ายพันธมิตร” แถมยังประกาศตัวเข้าภาวะสงครามโลก (ครั้งที่ 2) อย่างเต็มตัว ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะ Indian ใช้วัตถุดิบที่ผลิตซับซ้อน จึงผลิตได้ช้า เป้าหมายทางการตลาดที่วาดหวังไม่เกิดผล เศรษฐกิจโลกก็ถดถอย คอนแทคกับ “ภาครัฐ” ถูก Harley-Davidson ตัดหน้า งานหินที่ทีมผู้บริหารต้องขบคิดจนหัวแทบ…ระเบิด!!! ไลน์ผลิตถูกดรอป Indian ต้องภาวนาหวังให้สงครามยุติโดยเร็ว
สงครามสิ้นสุดลง Indian กลับมาทำตลาดอีกครั้ง แบบพิมพ์จากก่อนสงครามได้รับการปัด ฝุ่น Chief เจเนเรชั่นที่ 4 กับภาพลักษณ์ หน้าตะเกียบสริงเกอร์ โช้คสไลด์ กระโปรงบาน มีชีวิตชีวาอีกครั้งในปี 1946 (1946-1948) มันสวยสุด แถมยังวิ่งอีกต่างหาก โรงงานงานเคลมว่า มันสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 85 ไมล์/ ชม. (136 กม./ชม.) สำหรับรุ่นสแตนดาร์ด และทำความเร็วสูงขึ้นเป็น 100 ไมล์/ ชม. (160 กม./ชม.) เมื่อทำการปรับแต่ง และปลดเปลื้องน้ำหนักโดยเฉพาะที่บังโคลนหน้า/ หลัง…1950 Chief เจเนเรชั่นที่ 5 ได้รับการสังคยานา เครื่องยนต์ V-Twin 42 องศาได้รับการขายความจุขึ้นเป็น 80 คิวฯ (1,311 ซี.ซี.) ขุมพลัง 50 แรงม้าที่ 4,800 รอบ/ นาที มาพร้อมระบบ “โช้คอัพเทเลสโกปิค” ที่นิ่มนวล เคียงข้างซับหลังที่ยังคงเป็นฟอร์แมทมาตรฐาน Chief 1300 คันใหม่ ทว่า ที่น่าสังเกตุ จาก “จุดขาย” ที่ภูมิใจนักหนาในตอนต้น Indian กลับมาเลือกวางตำแหน่งของคันเกียร์ไว้ที่ด้าน “ซ้าย” ย้ายตำแหน่งคันเร่งน้ำมันสลับกับตัวเร่งไฟกลับมาทางด้าน “ขวา” (เหมือนอย่าง Harley-Davidson) เราไม่รู้เหตุผล…แต่…ก็พอทำนายได้ว่า Harley-Davidson คงแอบสะใจ…อย่างไรก็ตาม… “ตัวเลข” ทางการตลาดยังไม่กระเตื้อง รถรุ่นใหม่นี้กลับไม่เดิน Indian ประสบปัญหา “การเงิน” อย่างหนักหน่วง…สุดท้าย…ก็ต้องถอนทัพ ปิดโรงงานธรรมเนียมเดิมๆ อย่างเป็นทางการ กิจการทั้งหมดถูกแชร์ร่วมกับ Royal Enfield แบรนด์ผู้ผลิตจากอังกฤษในปลายปี 1953…รถลูกผสมหน้าตาแปลกๆ ก็เกิดขึ้น ทว่า ก็ไม่ทำให้สถานนะการณ์ใดๆ เปลี่ยนแปลง…!?!?!
1947 Indian Chief Roadmaster
รถ INDIAN
รุ่น/ ปี CHIEF/ 1947
เจ้าของ ตั้ม ELEMENT
เครื่องยนต์ SV. V-Twin 42 องศา 4 จังหวะ 1,213 ซี.ซี. (74 คิวฯ)
40 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/ นาที
กระบอกสูบ/ ช่วงชัก 82.5/ 113 มม.
ระบบไฟ คอยย์ 6 V. / (แสงสว่างไดชาร์จ)
ระบบเกียร์ 3 สปีด (เกียร์มือ/ ตลัตช์เท้า)
ระบบคลัตช์ แห้ง (หลายแผ่น)
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า/หลัง) สปริงเกอร์/ โช้คสไลด์
ระบบเบรก (หน้า/หลัง) ดรัมเบรก (ดุมเสี้ยวม็ม้H) บนล้อขนาด 16 นิ้ว
น้ำหนักรวม 539 ปอนด์ (245 กก.)
ความเร็วสูงสุด 85 mph. (136 กม./ ชม.)
อ้างอิง : THE ENCYCLOPIDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHELL / Roland Brown
: https://en.wikipedia.org/wiki/Indian
Owner : “ตั้ม อิลลิเม้นท์” กับจิ๊กซอร์ 1:1 ที่ใช้หลายสรรพกำลังจนพินิช นี่คือ “อินเดียน” ปี 1947 ที่สวยเลี่ยม เหมือนหลุดมาจากแคตตาล็อกฝรั่ง