1963 IWL TROLL 1
1963 IWL TROLL 1
สกู๊ตเตอร์เที่ยวลูกผสม “หัวไม่เลี้ยว-ตีโป่ง”
ประหลาด…จนได้เรื่อง!!! โสตแรกก็แอบขำนิดๆ หน้าตาถึกๆ ในแบบที่เจนตา วันดี คืนดี เกิดอยากแปลงร่างเป็นสกู๊ตเตอร์ขึ้นมาซะงั้น นี่คือเทรนด์ “รวมร่าง” หนึ่งที่ “นายห้าง” เกิดเออออ เซ็นอนุมัติให้เข้าไลน์การผลิตในยุคที่ต้องแชร์พาร์ทรถพาณิชย์เพื่อลดต้นทุนของโรงงาน IWL (IndustrieWerke Ludwigsfelde) เมื่อนายสั่ง ก็ต้องเดินเครื่อง และได้บทสรุปของรถโมเดลหนึ่ง ที่บ้านเราน่าจะพอขมวดปมจนได้นิยาม…นี่คือ…เอ็มแซด-หัวเหลี่ยม ตีโป่ง…!?!?!
เป็นสกู๊ตเตอร์จากเยอรมันตะวันออก (DGR) ที่แปลกตาดีเหมือนกัน มันเป็นลูกผสมที่หยิบเอาแบบการผลิตของ MZ ES150 “หัวไม่เลี้ยว” โมเดลปี 1962 มาใส่กระดอง ทว่า ยังคงเอกลักษณ์ของรถรุ่นต้นแบบไว้ไม่น้อย
ช่วงหน้าจากพิมพ์เขียวเก่า “โตงเตง” โช้คซัพแบบกระบอกคู่ บังโคลนสโลปไซซ์อลังการ กับการเลือกขนาดของล้อขนาด 12 นิ้ว
IWL Troll 1 คือนิคเนมที่เลือกเอามาจากคำว่า “Touren roller” ที่กินความหมายถึงรถสกู๊ตเตอร์เพื่อการท่องเที่ยว ที่ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานของ VEB Industriewerke Ludwigsfelde ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงเบอร์ลิน (DGR) ในเยอรมันตะวันออก (ซึ่งบริษัทแห่งนี้ผลิตรถยนต์ในเครื่องหมายการค้าของ Daimler/Benz 1936-1945/IWL 1955-1965/IFA 1966-1990) โดยมีไลน์การผลิตสั้นๆ อยู่ระหว่างเดือนมกราคม ปี 1963 ถึงธันวาคม 1964 ทว่า ก็ผลิตออกมาได้มากถึง 56,513 คัน
ขุมพลังจากรุ่น MZ ES150 ขนาด 143 ซี.ซี. 9.5 แรงม้า ที่เพิ่มส่วนของพัดลมระบายความร้อน เป่าเข้าโดมหัวกะโหลก เพื่อช่วยให้การระบายความร้อนทำได้ดีขึ้น เนื่องจากเครื่องยนต์ถูกซุกในบอดี้แบบปิด
IWL Troll 1 ค่อนข้างจะแตกต่างจากสกู๊ตเตอร์โมเดลอื่นๆ ของ IWL อย่าง Berlin และ Wiesel อยู่มาก มันมีโครงสร้างเฟรมหลักที่เป็นเปลยึดเครื่องยนต์ และส่วนของคานสวิงโช้คซัพไฮดรอลิกที่ด้านหน้า รวมถึงส่วนของสวิงอาร์มโช้คซัพกระบอกคู่ที่ด้านท้าย Troll 1 ยังคงมีภาพลักษณ์ในแบบคลาสสิก ทว่า ก็ถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับวงการรถสกู๊ตเตอร์โลกอยู่ไม่น้อย เมื่อใครๆ ต่างได้เห็นหน้าตามันในครั้งแรก
บอดี้ด้านท้ายเปิดฝากระโปรงเพื่องานเซอร์วิสได้ทั้ง 2 ฝั่ง มีกลไกล็อกตรงกลางจุดเดียว ทว่า เซอร์วิสหนักๆ สามารถยกออกได้ทั้งกระดอง
ขับหลังด้วยโซ่ ในปลอกยาง สวิงอาร์ม โช้คกระบอก พาร์ทร่วมของ MZ ที่หยิบมาใช้สอย
ภาพลักษณ์เด่นตาของ Troll 1 โสตแรกเห็นจะเป็นที่หัวไฟหน้าแบบ “สี่เหลี่ยมคางหมู” กับพาร์ทหลักที่จับเอาเครื่องเคราของรถรุ่น MZ ES150 โมเดลปี 1962 มาใช้งาน ทว่า มีการพัฒนาในส่วนของกะโหลกอะลูมิเนียมครอบเครื่องยนต์ และชุดของพัดลมเพื่อการระบายความร้อนให้เสื้อสูบ (เรียกแบบการผลิตนี้ว่า Type-TR150) โดยขุมพลังของ Troll 1 ให้กำลังสูงสุดที่ 9.5 แรงม้า และสามารถทำความเร็วสูงสุดไว้ที่ 90 กม./ชม. อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกฎหมายเครื่อง “ความดัง” ของท่อไอเสียที่ 80 เดซิเบล Troll 1 ออกแบบไซเรนเซอร์ไว้หลายระบบ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ผ่านตามข้อกำหนดสักที ทว่า สุดท้ายกลับสะเด็ดน้ำ ด้วยรูปแบบการทำงานที่ได้แรงบันดาลใจจาก Vespa โดยไอเสียจะหมุนวนในท่อพักที่แบ่งเป็นห้องๆ และเลือกตำแหน่งติดตั้งไว้ใต้ท้องเครื่องยนต์ ก็สามารถลดเสียงให้อยู่ในค่ามาตรฐานได้
เหมือนตัดช่วงหน้าของ MZ ES150 มาติดเข้ากับบังลมของรถสกู๊ตเตอร์ ส่วนผสมแปลกๆ ที่เกิดขึ้นจากโรงงานของ IWL
คันเกียร์ (ซ้าย) เบรกหลัง (ขวา) วางเจาะช่องไว้ที่รางมิเนียมพักเท้า นี่ก็เจนตา แฟน MZ เห็นต้องร้อง…อ๋อ!!!
น่าเสียดายที่ Troll 1 นั้น มีช่วงชีวิตที่สั้นมาก แบบการผลิตถูกยุติเร็วกว่ากำหนดในปี 1965 หลังกระแสเศรษฐกิจโลกตกต่ำ รถเพื่อการพาณิชย์ที่คุ้มค่า ราคาไม่แพง คือ “ตัวเลือก” ใหม่ที่โรงงานตัดสินใจ ซึ่งมันต้องแชร์ชิ้นส่วนหลักๆ ที่ผลิตในโรงงานร่วมกันได้ ในปีนี้เองที่เราได้เห็นสกู๊ตเตอร์รุ่นใหม่ที่ออกจากโรงงานของ IWL ที่มีหน้าตาคล้ายๆ กันไปหมด ทั้ง IWL W50 รวมถึงรุ่น L60…สำหรับรุ่น Troll 1 นั้นมีการผลิตออปชันเสริมออกมาด้วยเช่นกัน อาทิ ตะแกรงท้ายที่ติดตั้งล้ออะไหล่ กล่องเก็บอุปกรณ์ รวมถึงเทรลเลอร์ลากจูงสำหรับงานขนส่งระยะไกล (Track Tailer Cambi) อย่างไรก็ตาม IWL Troll 1 ถือเป็นรถสกู๊ตเตอร์อีกโมเดลหนึ่งที่น่าจดจำในฟากฝั่งของ “เยอรมันตะวันออก” และสร้างการจดจำได้ไม่น้อยไปกว่า Cezeta…Tatran S125…Simson รวมถึง Jawa…!?!?!
บทสรุปที่ว่า อย่าไปคิดเอง เอาแบบของ Vespa มาพัฒนาซะเลย จบที่ท่อไอเสียหมุนวน ผ่านห้องพัก ช่วยให้เสียงเงียบ จนผ่านค่าทางกฎหมายได้
“เก่ง ไฮเก้นส์” รู้จักกันมา 2 ทศวรรษ มีรถแปลกๆ มาเสิร์ฟให้ตลอด รออีกนิด เตรียมตื่นตากับรถคอกใหม่ ที่ทำไมถึงเรียก…เก่ง ไฮเก้นส์…อุ๊ป!!!
1963 IWL TROLL 1
รถ IWL (IndustrieWerke Ludwigsfelde)
รุ่น / ปี TROLL 1 / 1963
เจ้าของ เก่ง ไฮเก้นส์
เครื่องยนต์ 1 สูบ 2 จังหวะ 143 ซี.ซี.
ระบายความร้อนด้วยพัดลม 9.5 แรงม้า ที่ 6,200 รอบ / นาที
ระบบไฟ ทองขาว 6 V.
ระบบเกียร์ 4 เกียร์
ระบบคลัตช์ เปียก (หลายแผ่น)
ระบบขับเคลื่อน โซ่
ระบบโช้คอัพ (หน้า / หลัง) คานสวิงโช้คน้ำมันกระบอกคู่ / สวิงอาร์มโช้คน้ำมันไฮดรอลิก
ระบบเบรก (หน้า /หลัง) ดรัมเบรก
ล้อ / ยาง(หน้า / หลัง) 3.50 x 12 นิ้ว
ฐานล้อ 1,230 มม.
น้ำหนัก 128 กก.
ความเร็วสูงสุด 90 กม. / ชม.
อ้างอิง : VESPA STYLE IN MOTION / Roberto Segoni
: THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: https://de.wikipedia.org/wiki/IWL_Troll