1998 Vespa PX15OE
1998 Vespa PX15OE
บทส่งท้าย P-Series “ดีที่สุด” 2 จังหวะ “โรตารี่วาล์ว”
ชื่อรุ่นมันก็มี ทว่า บ้านเรากลับเรียกจนติดปากว่า “พีเอ็กซ์-98” โปรดักต์รุ่นสุดท้ายของตระกูล P-Series ที่นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยเจริญมอเตอร์ไบค์ (2535)…344 คัน คือ “สินค้า” ที่ได้รับการจัดจำหน่าย เหตุผลนี้เลยพลอยให้ “พีเอ็กซ์-98” นั้นมีเรทติ้ง และเพราะความต้องการที่มีเกิน “ดีมานด์” ก็ช่วยไม่ได้ที่ “ราคา” จึงเข้ามากำหนด “ราคาตลาด” บนเส้นทางของรอยล้อที่ทิ้งร้างไปร่วม…2 ทศวรรษ!!!
สืบเนื่องจากกระแสเศรษฐกิจยุโรปที่กำลัง…ช็อต!!! หลังจากโลกธุรกิจยานยนต์ถูกกลุ่มผู้ผลิตจากญี่ปุ่นเข้ามาตีตลาด “Piaggio” เดินทางมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้ง ทีมผู้บริหารเตรียม มาตรการ “เด็ดขาด” เตรียมรับมือ ไม่รุ่ง…ก็…ร่วง!!! โครงการผลิตรถสกู๊ตเตอร์ไลน์ใหม่ถูกเข็นเข้าห้องเย็น แบบการผลิตทั้ง “หน้าตา” และ “เครื่องยนต์” 2 ปัจจัยหลักที่ต้อง…รีโนเวท!!!…Mario Bellini นักออกแบบเครื่องพิมพ์ดีดและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถูกดึงตัวร่วมงานกับ Giorgetto Giugiaro ดีไซเนอร์ยานยนต์เพื่อโครงการใหม่หนนี้…19 ตุลาคม 1977 สกู๊ตเตอร์รูปทรงสปอร์ตๆ ก็เป็นรูปธรรมในที่สุด และมีบล็อกเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาดคือ 125 ซี.ซี. (P125X) และ 200 ซี.ซี. (P200E) สตาร์ตไฟฟ้า…และ…ตามมาด้วยรุ่น PX-Series กับเครื่องยนต์ขนาด 150 ซี.ซี.
รูปร่างหน้าตาของรถดูจะเปลี่ยนไปมากทีเดียว มองจาก “ด้านท้าย” ตัวรถดูเป็นเหลี่ยมสัน ขนาดความกว้างของรถถูกร่นแคบเข้ามาข้างละ 2 นิ้ว เส้นโค้งของฝากระโปรงเด่นชัดขึ้น ไม่มีซี่เจาะด้านข้าง และมีแนวสันตะเข็บเป็นทางยาวไปจนถึงตำแหน่งที่ติดตั้ง “ไฟเลี้ยว” ซึ่งเป็น ข้อกำหนดขึ้นตามมาตรการทางกฎหมาย บั้นท้ายแบบกล่อง (Box-shape) ไม่มีซุ้มล้อ ส่วนปลายของบอดี้เลือกใช้แผ่นพลาสติกสีดำปิดทับ และเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของบังโคลนหลัง สวย ดูทันสมัย และกันเศษกรวดดินกระเด็น “ด้านหน้า” ได้สมมาตร รูปทรงทั้ง 2 ฝั่งของรถดูเท่ากัน เด่นที่บังโคลนหน้าทรงเหลี่ยม ตีตะเข็บสันกลาง รับกับดั้งยื่นทรงเหลี่ยม เซาะร่องที่ด้านในเป็นตำแหน่งของชุดแตร ด้านหลังบังลมเพิ่มฟังก์ชันด้วยกล่องเก็บของมากความจุ และถึงจะติดตั้งไว้ก็ยังคงเหลือพื้นที่สำหรับการวางเท้าได้อย่างสบาย และเพราะเรื่อง “เทคโนโลยีทางการผลิตชิ้นส่วน” เดินทางมาถึงจุดสูงสุด P-Series ทุกไลน์ผลิตถูกใช้เหล็กแผ่นที่มีขนาด “บางลง” ทว่า “แกร่งขึ้น” การเชื่อมประสานที่ทันสมัย ตลอดจนมีการเคลือบไฟฟ้าสารกันการผุกร่อนและการพ่นทับด้วยสีพิเศษตามกระบวนการสุดแสนไฮเทค
ระบบการทำงานของ “ชุดเกียร์” ผ่านสายเคเบิลยังคงได้รับการปรับใช้ สวิตช์ต่างๆ ยังคงได้รับการติดตั้งตามรุ่นของเครื่องยนต์ P-Series แตกต่างตรงที่ฝาครอบชิ้นบนของบาร์ใช้วัสดุพลาสติก ที่สามารถถอด/ใส่ได้ง่ายๆ ตรงกลางฝังไมล์ทรงกลม กับตำแหน่งไฟทับทิมทรงเหลี่ยม 2 จุด เหนือขึ้นไปเป็นตำแหน่งของสวิตช์กุญแจหลัก จากพื้นฐานของ P-series เครื่องยนต์โรตารี่บล็อกรีโนเวทแบบ 2 จังหวะ 3 พอร์ท ขนาด 125 ซี.ซี. ในวันนั้น…ถึง…วันนี้มีการพัฒนาสืบเนื่องกันอีกหลายเจนท์ ทว่า ชื่อเสียงของ P-series ยังคง “ตราตรึง” ในฐานะ “รถสกู๊ตเตอร์รุ่นที่ดีที่สุดของโรงงาน” ณ ห้วงเวลานั้นๆ ยอดขายที่ติดลมบน P-Series ไม่ใช่แค่รถหน้าตาใหม่ ทว่า นี่คือ “ตำนาน” ที่ยังคง…ขับเคลื่อน…!?!?!
STORY : NUIAJS /
PHOTO : Kwang GPI.Photo Dep.