1958 Lambretta 125 LI-Series I
1958 Lambretta 125 LI-Series I
“ออลนิว” ล้อเล็ก “ทุบล็อก”
“เงินเรา”…ใช้ซะ!!!…ชอบแบบไหน แต่งแบบนั้น แนวคิด “เพลน เพลน” ที่เรายิงเป็นคำถาม “เบิกทาง” นี่แหละคนเล่น “นอกกรอบ” ที่แต่งรถในสไตล์ “มิกซ์ แอนด์ แมตช์” ที่เราหยิบความมันส์มานำเสนอเป็นไอเดีย “หมอหมา” นิคเนมเกร๋ๆ ที่เพื่อนสาย “ล้อเล็ก เมืองชลฯ” นั้นเจนศัพท์ หนนี้ “แลมฯ 1 ท้ายเจาะ” คือตัวอย่างสนุกๆ ที่หยิบมา “นำเหนอ” มาเลย ขยับมาใกล้ๆ แล้วผมจะเล่า…ให้ฟัง…!?!?! “ไฟดั้ง” มโนแรกที่สร้างการจำกัดสำหรับรุ่น Series –I สวยงาม ลงตัว และเต็มไปด้วยความคลาสสิก “รถรื้อแบบ” ที่เข้ามาแทนบอดี้ของรุ่น LD น่าเสียดาย มันไปได้ไม่ไกลนัก
แต่ซิ่งในแบบที่ตัวเองชอบ เปลือยซับหน้า ใส่บังโคลนบาง เพิ่มความหนึบด้วยโช้คซัพแต่ง BGM เพื่อการใช้งานที่หวังผลได้มากกว่า
1958-1959 LAMBRETTA LI-Series
Li-Series นั้นถือเป็นไลน์ผลิตที่เปี่ยมไปด้วยความแปลกใหม่รุ่นล่าสุดที่ถูกบรรจุเข้าสายการผลิตของโรงงาน INNOCENTI ทั้งเครื่องยนต์ รวมถึงหน้าตานั้นผิดแผกแตกต่างจากรุ่นพี่อย่าง LD “รถขายดี” รุ่นก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด ทว่า แท้จริงแล้ว Li คือผลงานชิ้นต่อยอดทางพันธุกรรมจากรุ่น TV ที่เปิดตัวในเดือนเมษายน 1957 จากเครื่องยนต์แบบขับเคลื่อน “เพลา” ส่งกำลังนั้นถูกแทนที่ด้วย “โซ่” ขับผ่านเฟืองสเตอร์ รวมถึงบล็อกเครื่องยนต์ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่หมดจดอีกเช่นกัน จากเสื้อ “สูบตั้ง” เปลี่ยนเป็นเสื้อ “สูบนอน” วางตามความยาวของโซ่ขับหลัง และเพิ่มชุดเกียร์ขับเคลื่อนเป็นแบบ 4 เกียร์ แต่ยังคงระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ โดยใช้พัดลมหมุนวนอากาศในกะโหลกครอบเครื่อง หน้าตาที่ถูกออกแบบใหม่ชนิด “รื้อพิมพ์เขียว” นั้นโดดเด่นที่บังโคลนหน้าขนาดใหญ่ที่ติดตั้งเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของบังลม มันถูกยึดติดตายตัว ไม่หันเลี้ยวตามการบังคับผ่านแฮนเดิ้ลบาร์ LI เพิ่มเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อเป็นขนาด 10 นิ้ว และเปลี่ยนย้ายตำแหน่งของกล่องเครื่องมือไว้ในกระโปรงตรงใต้ตำแหน่งของเบาะเดี่ยวด้านหน้า ส่วนเรือนไมล์กลมจัดวางไว้ที่ด้านบนสุดของแฮนเดิ้ลบาร์ ที่โยงสายเคเบิลปั่นผ่านเฟืองซี่เล็กๆ เดินอยู่ระหว่างดั้งจมูกที่เป็นแผ่นเหล็กทรงโดมขึ้นรูปปิดครอบชุดแตรรูปทรงโค้งมน
อุปกรณ์ควบคุม คันเกียร์ สวิตช์แตร ติดตั้งและใช้งานได้ดี หน้าตาแปลกๆ เพราะเจ้าของพิสมัยพาร์ทที่แหวก
ไลน์ผลิตของ Li นั้นทำคลอดออกมาให้ได้เลือกสรรกัน 2 บล็อกเครื่องยนต์ มิติของห้องเผาไหม้ (กระบอกสูบxช่วงชัก) ที่ 52x58 มม. (125 ซี.ซี.) และ 57x58 มม. (150 ซี.ซี.) แม้หน้าตาภายนอกจะดูไม่แตกต่างกัน ทว่า โรงงาน Innocenti ก็สร้างความแตกต่างของทั้ง 2 เครื่องยนต์นี้ด้วย “สีของบอดี้” Li125 เพลนๆ ด้วยสีน้ำเงินเทา (Bluish-gray) กับฝากระโปรงข้างสีเทาเข้ม (Dark-metallic) ในขณะที่รุ่น Li150 นั้นสะดุดตาด้วยสีสันแบบทูโทนที่สดใสกว่า แม้บอดี้หลักจะเป็นสีน้ำเงินเทา (Bluish-gray) ทว่า ฝากระโปรงมีให้เลือกสรร ทั้ง แดง (Red), น้ำเงิน (Blue), เขียว (Green) และ น้ำตาล (Brown)
“ท้ายเจาะ” เพราะเป็นรถแรกที่ลงไลน์ผลิต สำหรับรุ่น Li125 ข้อบ่งชี้ของรุ่นที่ต่างจาก Li150 ที่เป็นท้ายเรียบ เพราะเจาะช่องให้อากาศเข้าไว้ที่ด้านหน้า (ใต้เบาะหน้า)
ซิ่งนิดๆ แต่ยังคงเน้นพาร์ทแต่งเป็นของหายาก เริ่มที่ถุงเท้าแดง ครอบดั้งเงาๆ หงอนบังโคลน เครื่องหมายการค้าแบรนด์หายากของ Ardor
Li-Series พัฒนาชิ้นส่วนที่เคยเป็นปัญหาในรุ่น TV เกียร์ และระบบขับเคลื่อนที่นุ่มนวลและแน่นอนก็คืออานิสงส์จากเดิมที่ Li125 ที่ใช้รางพื้นเป็นเส้น “อะลูมิเนียม” ประกับคันเร่ง-เกียร์ สีเดียวกับตัวรถ เบาะหลังตะแกรงทรงโค้ง ในขณะที่ Li150 เพิ่มความมันวาวที่งานปัดเงาประกับคันเร่ง-เกียร์ ส่วนรางพื้นเปลี่ยนมาใช้ “เส้นยาง” กันลื่น พร้อมติดตั้งเบาะเบิ้ลมาให้เป็นมาตรฐานออกห้าง Li-Series เป็น “ดาวเด่น” หลังจากวางออกจำหน่ายเพียงไม่กี่เดือน เพราะมันเวิร์กในการใช้งานและการบำรุงดูแลรักษาทำได้สะดวก ช่องดักลมที่วางไว้ใต้เบาะด้านหน้า ส่งอากาศผ่านหม้อกรองฟิลเตอร์กระดาษ (แบบรถยนต์) ส่งให้คาร์บูเรเตอร์ ล้อหน้า/หลัง ขนาด 10 นิ้ว เกียร์ที่นุ่มนวล 4 สปีด Li เป็นรถที่ทรงตัวเยี่ยม บาร์ก็คุมง่าย มันใช้งานครอบคลุมทั้งในเมือง ขี่เดี่ยว ขี่ซ้อน บรรทุกหนัก หรือหากจะใช้เดินทางในระยะไกลก็ไร้กังวล แถมยังเป็นรถใช้สอยเชื้อเพลิงอย่างประหยัดอีกด้วย น่าเสียดายที่รถ “ไฟดั้ง” ไม่…ดัง!!! ตุลาคม 1959 โรงงาน INNOCENTI …ก็…แทนที่มันด้วย Li Series-II รถไมเนอร์เชนจ์ “ไฟบน” ที่เข้ามา…“ทำตลาด” แทน…บ๊าย…บาย…ท้ายเจาะ…!?!?!
ฝาครอบล้ออะไหล่ Super กับตะแกรงยึดล้ออะไหล่ที่ย้ายมากลางแป้นวางเท้าด้านท้ายเอาไว้โชว์ของอื่นๆ
เบาะพร้อมซีตซี่บาร์ทรงสูง หุ้มด้วยไวนิลลายเสือชีต้า จะเรียก “มอดส์” ก็ได้ “ช็อปสไตล์” ก็แล้วแต่ ถามเจ้าตัว…บอก “แนวหมอหมาพี่” ‘งงดิ๊ งงดิ๊ ส่วนตะแกรงหลังรุ่นท็อปฮิตของ Ulma
Lambretta LI 125-Series I
เจ้าของ : หมอหมา “เมืองชลฯ”
ผลิต : เมษายน 1958-ตุลาคม 1959
จำนวนผลิต : 47,747 คัน
ความจุ : 123 ซี.ซี.
กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 52 x 58 มม.
คาร์บูเรเตอร์ : Dellorto MA 18 BS5
เกียร์ : 4 เกียร์ (มือ)
แรงม้าสูงสุด : 5.2 แรงม้าที่ 5,200 รอบ / นาที
ความเร็วสูงสุด : 75-77 กม./ ชม. (48-50 ไมล์ / ชม.)
ขนาดยาง (หน้า/หลัง) : 3.50 x 10 นิ้ว
เบรก (หน้า/หลัง) : ดรัมเบรก
ความจุเชื้อเพลิง : 8.5 ลิตร
อัตราสิ้นเปลือง : 42 กม. / ลิตร (120 ไมล์ / แกลลอน)
มิติ (กว้าง / ยาว / สูง) : 710 / 1,825 / 1,038 มม.
น้ำหนัก : 105 กิโลกรัม
สี : น้ำเงิน-เทา (กระโปรง เทาเข้ม-125 )
(กระโปรง เขียว / แดง / น้ำเงิน / น้ำตาล-150)
อ้างอิง : INNOCENTI LAMBRETTA / Vittorio Tessera
: LAMBRETTA AN ILLUSTRATED HISTORY / Jeff McBride
: THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson