1970 CYCLO-Vespa V5A
1970 CYCLO-Vespa V5A
“เวสปั่น” แบบผลิตกวนๆ ยียวน “ป่วนโลก”
ไม่ใช่เรื่อง…โจ๊ก!!! นี่คือ “เรียลสตอรี่” ที่ถูกซุกในรายการผลิตหนึ่งที่โลกต้อง…จดจำ!!! จากโมเดลพื้นฐาน “รถเล็กสเป็กประหยัด” เชื่อหรือ…ไม่…?? ว่ารถเครื่องยนต์เล็กๆ ขนาด 49.8 ซี.ซี. ภายใต้เครื่องหมายการค้าของ Vespa นั้น หลุดออกจากไลน์ผลิตมากถึง 870,000 คัน (1969-1983) นี่คือรูปแบบของงาน “อภิมหาอลังการ” ที่ช่วยประสานกำแพงหลังบ้านด้าน “การเงิน” ให้ Vespa นั้น…แข็งโป๊ก!!!
เครื่องยนต์ขนาดเต็มความจุ 77 ซี.ซี. ขนาด 1.5 แรงม้าที่รอบเครื่องยนต์ 4,500 รอบ/ นาที จึงถูกใช้เป็นขุมกำลัง (V5A) สำหรับไลน์ผลิตพิเศษนี้
สตอรี่สร้างเรื่องแปลกๆ ของ Vespa นั้น เริ่มด้วยแบบการผลิตปรกติของรุ่น Vespa 50R (V5A) รถบอดี้เล็กๆ ที่เปิดตัวครั้งแรกที่งาน Milan Show ในปี 1969 จากความต้องการและแนวทางในการออกแบบที่ทีมพัฒนานั้นเลือกสรร คือสร้างรถเล็กๆ ที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ ใช้สอยพลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และแน่นอนว่าทางผู้แทนจำหน่ายจะวางขายมันในสนนราคาที่ไม่สูงนัก ซึ่งลูกค้าสตรี กระทั่งวัยรุ่น วัยทำงาน ที่เริ่มจะมีสะตุ้งสตังค์ จะสามารถจัดหามาไว้ใช้สอยกันได้ “อะไรที่ลดได้ ก็ต้องลด” เครื่องยนต์ขนาดเต็มความจุ 49.77 ซี.ซี. ขนาด 1.5 แรงม้าที่รอบเครื่องยนต์ 4,500 รอบ/นาที จึงถูกใช้เป็นขุมกำลัง (V5A) และทำการลดขนาดของล้อหน้า/และหลังลงเหลือเพียง 9 นิ้วเท่านั้น
ดุมจีบยึดด้วยนอต 4 จุด บนตะเกียขาเดี่ยว เหลาร้อย ซับด้วยโช้คสปริงแกนร่วมไฮดรอลิก แปลกต้องที่ยังขอบล้อหน้า/หลัง ขนาด 9 นิ้วแบบรุ่น 50R
จากยอดผลิตในอิตาลีที่ยังคง “เดินดี” ทีมจัดจำหน่ายเพื่อการส่งออกได้ออเดอร์ “ฝรั่งเศส” ลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างใหญ่ แต่การที่จะนำรถผ่านเข้ามาจำหน่ายใน “ปารีส” ได้นั้นก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนสิ่งละอันพันละน้อย เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายจราจร และสำหรับบล็อกเครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 50 ซี.ซี. (Moped) รถจักรยานยนต์ต้องมี “แคร้งค์ปั่น”…ใช่!!!…กลไกสำหรับ “การปั่น” แบบจักรยานนั่นแหละ เหตุผลง่ายๆ “รถเล็ก” หากไปน้ำมันหมดกลางทาง ต้องสามารถปั่นกลับบ้าน หรือหาสถานีน้ำมันได้ เปรียบกันง่ายๆ ในช่วงเวลานั้น Velo Solex, Puch หรือ Little Honda คือภาพลักษณ์ของรถ “โมเปด” ที่มีภาพลักษณ์ชัดเจนที่สุด
ดุมหลังเสริมจุดยึด 4 จุด เพื่อเชื่อมการทำงานของ “กลไกปั่น” น่าเสียดายที่ยังไม่ได้มา เจ้าของบอกหายากสุดๆ บินอิตาลีเองยังไม่เคยเจอ แต่คิดว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ยังไงก็ต้องตามให้ได้
Cyclo-Vespa คือแบบผลิตอย่างเป็นทางการบอดี้ V5A1T มาหั่น และเพิ่ม “กลไกปั่น” ตามข้อกำหนด หั่นพักเท้า สร้างแกนปั่น ใส่เฟืองขับหน้า/หลัง เชื่อมการทำงานผ่านดุมล้อหลัง หาโซ่มาคล้อง ใส่บันได เท่านี้ก็…ปั่นได้แล้ว!!!…ส่งตรวจ…ผ่าน!!! รถล็อตนี้ส่งตรงและขายไปทั่วฝรั่งเศส…งานโจ๊กๆ ป่วนโลก ทว่า “สายเก็บ” บอกว่ามันคืองาน “มาสเตอร์พีซ” ที่ต้องหามาตุนในคอลเลกชัน เพราะแทบไม่หลุดมาให้ได้เห็นง่ายๆ ตามท้องตลาด ทว่า โมเดลนี้กลับมีแอบหลงเข้ามาให้ได้เจอะเจอที่ “เมืองกรุงฯ” บอกเลยบ้านเรานี่มันอุดมสมบูรณ์…จริง…จริง !?!?!
กลไกที่เพิ่มเข้าไปสำหรับ “งานปั่น” เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ง่ายๆ คือปั่นได้จักรยานนั่นแหละ จึงต้องหั่นเว้าส่วนของแป้นวางเท้า เพื่อหลบเวลาปั่นใช้งาน ในภาพคือกลไปปั่น ที่ขับตรงถึงล้อหลัง มีการปรับอัตราทดที่เบา ไม่ต้องใช้แรงมาก วิถีที่แปลงการทำงานจาก “มอเตอร์ไซค์” เป็น “จักรยาน” ได้อย่างง่ายดาย
พาร์ทโรงงานจากรุ่น V50A หัวกลม ไมล์กลม 3 เกียร์ คืออานิสงส์ที่หยิบมาใช้สำหรับรุ่นส่งออกนี้
เพลทบอดี้เพื่อการส่งออก Cyclo-Vespa V5A ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ นี่คือรถโรงงานที่ไม่ธรรมดา “สายเก็บ” ต้องรีบหามาครอบครอง โมเดล “สมอลล์” ที่แปลก ป่วนโลกจริงๆ
แบบการผลิตของคู่แข่งในยุคเดียวกัน “VeloSolex” นี่ของเจ้าบ้านเอง ส่วน “Little Honda” นี่ก็กำลังเข้ามาทำตลาด เพราะวางจำหน่ายในคลาสของ Moped (ไม่เกิน 50 ซี.ซี.) ก็ต้องมีกลไกปั่นเข้ามา เพื่อให้ผ่านมาตรฐานสำหรับรถใช้งานใน “ฝรั่งเศส”
1970 CYCLO-Vespa V5A
รถ Cyclo-Vespa
รุ่น / ปี 50 / 1970
เจ้าของ Apple 13
เครื่องยนต์ 1 สูบ 2 จังหวะ 49.77 ซี.ซี.
ระบายความร้อนด้วยพัดลม 1.5 แรงม้า
ระบบไฟ ไฟล์วีล แมกนีโต / ทองขาว
ระบบเกียร์ 3 เกียร์
ระบบคลัตช์ เปียก (หลายแผ่น)
ระบบขับเคลื่อน เฟือง
ระบบโช้คอัพ (หน้า / หลัง) คอยล์สปริงแขนเดี่ยว (แยกแกนไฮดรอลิก) / โช้คน้ำมันไฮดรอลิก
ระบบเบรก (หน้า / หลัง) ดรัมเบรก (ดุมหน้า 125 มม. / หลัง 135 มม.)
ล้อ / ยาง(หน้า / หลัง) 2.75 x 9 นิ้ว
ความจุเชื้อเพลิง 5.2 ลิตร (สำรอง 1.2 ลิตร)
อัตราสิ้นเปลือง 3.1 ลิตร/ 100 กม.
กว้าง / ยาว / สูง 610 / 1,655 / 745 มม.
ฐานล้อ 1,175 มม.
น้ำหนัก 67 กก.
ความเร็วสูงสุด 40 กม. / ชม.
อ้างอิง : VESPA STYLE IN MOTION / Roberto Segoni
: THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: 60 Years of the Vespa / Giorgio Sarti
STORY / PHOTO : SCOOTER MANIA!