Vespa PX-Series
Vespa PX-Series
4 ทศวรรษ “พี-เอ็กซ์ ซีรีส์” เกิดมา…เจ๋ง!!!
เรทติ้งร้อนสุดชั่วโมงนี้!!!…คงหนีไม่พ้นการกลับมา “แจ้งเกิด” อีกครั้งสำหรับรถรุ่น Vespa PX125 โมเดลปี 2016 ของตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ด้วยสนนราคาค่าตัวราว “2 แสน” และจำนวนนำเข้าเพียง 750 คัน…ใครจะเชื่อ 3 วันทำการ…ออเดอร์ถล่ม!!! รถ…ขายหมด!!! แค่ ถือ “ใบจอง” ก็มีราคา แถมเกิดเป็น “ดราม่า” ให้ได้เม้าท์กัน…สนุกปาก!!!
นิ่งขึ้นด้วยซัพหน้าตะเกียบแขนเดี่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ กับโช้คซัพไฮดรอลิกเทเลสโคปิกตัวเขื่อง ทั้งใหญ่ ทั้งยาว ให้ช่วงยุบตัวมากที่สุดถึง 3.6 นิ้ว (รุ่นเดิมๆ คือ 2.8 นิ้ว) หนึบ แน่น ชัวร์ รองรับการทำงานที่หนักหน่วงขึ้น
เครื่องยนต์ ขนาด 150 ซี.ซี. 8 แรงม้า กับวิวัฒนาการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทว่า ยังคงพื้นฐานของเครื่องยนต์พัดลมแบบโรเตอรี่ 3 พอร์ท 125 ซี.ซี. ในปี 1977 ระบบไฟแบบใหม่ที่เรียกว่า CDI. คือการจุดระเบิดที่เม่นยำ ไฟชัวร์ ไฟสว่าง จาก “สตาร์ตเท้า ผสมถัง” ถึง “สตาร์ตไฟฟ้า ลู้บฯ แยก” เลือกแบบไหน ก็จะได้รถรุ่นที่…เจ๋ง!!! ที่สุดของโรงงานในห้วงเวลานั้นๆ
สวิตช์สั่งงานที่บาร์ มีปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ (สีแดง) สำหรับรุ่นสตาร์ตมือ ที่ ณ ห้วงเวลานั้น โมเดลปี 1998 คือ “รุ่นท็อป” ที่มีจำหน่ายในบ้านเรา (ไทยเจริญยนต์)
เจ๋ง!!! จนเกิดเป็นกระแส หนนี้เราจะตามมาดูปูมของ “P-Series” รถอิตาลีที่สร้างยอดขายดีไปทั่วโลก นวัตกรรมตอบโจทย์…ก่อน…เจอตัวเป็นๆ เครื่องยนต์ 2 จังหวะ EURO3 โมเดลปี 2016…ขยับมาเสพ…เรากำลังตั้งวิถีเครื่องย้อนเวลากลับไปในยุคปี 1977
สืบเนื่องจากกระแสเศรษฐกิจยุโรปที่กำลัง…ช็อต!!! หลังจากโลกธุรกิจยานยนต์ถูกกลุ่มผู้ผลิตจากญี่ปุ่นเข้ามาตีตลาด “Piaggio” เดินทางมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้ง ทีมผู้บริหารเตรียมมาตรการ “เด็ดขาด” เตรียมรับมือ ไม่รุ่ง…ก็…ร่วง!!! โครงการผลิตรถสกู๊ตเตอร์ไลน์ใหม่ถูกเข็นเข้าห้องเย็น แบบการผลิต “หน้าตา” และ “เครื่องยนต์” 2 ปัจจัยหลักที่ต้อง…รีโนเวท!!!…Mario Bellini นักออกแบบเครื่องพิมพ์ดีดและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถูกดึงตัวร่วมงานกับ Giorgetto Giugiaro ดีไซเนอร์ยานยนต์ เพื่อโครงการใหม่หนนี้…19 ตุลาคม 1977 สกู๊ตเตอร์รูปทรงสปอร์ตๆ ก็เป็นรูปธรรมในที่สุด และมีบล็อกเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาดคือ 125 ซี.ซี. (P125X) และ 200 ซี.ซี. (P200E) สตาร์ตไฟฟ้า…และ…ตามมาด้วยรุ่น PX-series กับเครื่องยนต์ขนาด 150 ซี.ซี.
ความเปรียบต่างที่บ้านเราเรียกขาน “รถหัวเหลี่ยม” (โมเดลปี 1984) สตาร์ตเท้า ผสมถัง ส่วนโมเดลไมเนอร์เชนจ์รุ่นสุดท้ายที่จำหน่ายในบ้านเรา “รถหัวกลม” (โมเดลปี 1998) สตาร์ตมือ ลู้บฯ แยก ชอบแบบไหน เลือกได้ตามรสนิยม
รูปร่างหน้าตาของรถดูจะเปลี่ยนไปมากทีเดียว มองจาก “ด้านท้าย” ตัวรถดูเป็นเหลี่ยมสัน ขนาดความกว้างของรถถูกร่นแคบเข้ามาข้างละ 2 นิ้ว เส้นโค้งของฝากระโปรงเด่นชัดขึ้น ไม่มีช่องด้านข้าง มีแนวสันตะเข็บเป็นทางยาวไปจนถึงตำแหน่งที่ติดตั้งไฟเลี้ยวเข้ามาตามมาตรการทางกฎหมาย บั้นท้ายแบบกล่อง (Box-shape) ไม่มีซุ้มล้อ ส่วนปลายของบอดี้เลือกใช้แผ่นพลาสติกสีดำปิดทับ และเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของบังโคลนหลัง สวย ดูทันสมัย และกันเศษกรวดดินกระเด็นตามฟังก์ชัน “ด้านหน้า” ได้สมมาตร รูปทรงทั้ง 2 ฝั่งของรถดูเท่ากัน เด่นที่บังโคลนหน้าทรงเหลี่ยม ตีตะเข็บสันกลาง รับกับดั้งยื่นทรงเหลี่ยม เซาะร่องที่ด้านในเป็นตำแหน่งของชุดแตร ด้านหลังบังลมเพิ่มฟังก์ชันด้วยกล่องเก็บของมากความจุ และถึงจะติดตั้งไว้ก็ยังคงเหลือพื้นที่สำหรับการวางเท้าได้อย่างสบาย และเพราะเรื่อง “เทคโนโลยีทางการผลิตชิ้นส่วน” เดินทางมาถึงจุดสูงสุด P-series ทุกไลน์ผลิตถูกใช้เหล็กแผ่นที่มีขนาด “บางลง” ทว่า “แกร่งขึ้น” การเชื่อมประสานที่ทันสมัย ตลอดจนมีการเคลือบไฟฟ้าสารกันการผุกร่อนและการพ่นทับด้วยสีพิเศษตามกระบวนการสุดแสนไฮเทค
มุมมองที่บ่งชี้ รถ “ผสมถัง” กับ “ลู้บฯ แยก” ต่างที่ตาแมวในหลอดแก้ว เช็กระดับน้ำมันออโตลู้บ
ระบบการทำงานของชุดเกียร์ผ่านสายเคเบิลยังคงได้รับการปรับใช้ สวิตช์ต่างๆ ยังคงได้รับการติดตั้งตามรุ่นของเครื่องยนต์ P-series แตกต่างตรงที่ฝาครอบชิ้นบนของบาร์ใช้วัสดุพลาสติก ที่สามารถถอด/ใส่ ได้ง่ายๆ ตรงกลางฝังไมล์ทรงกลม กับตำแหน่งไฟทับทิมทรงเหลี่ยม 2 จุด เหนือขึ้นไปเป็นตำแหน่งของสวิตช์กุญแจหลัก จากพื้นฐานของ P-series เครื่องยนต์โรตารี่บล็อกรีโนเวทแบบ 2 จังหวะ 3 พอร์ท ขนาด 125 ซี.ซี. ในวันนั้น…ถึง…วันนี้มีการพัฒนาสืบเนื่องกันอีกหลายเจนท์ กระนั้นชื่อเสียงของ P-series ยังคง “ตราตรึง” ในฐานะ “รถสกู๊ตเตอร์รุ่นที่ดีที่สุดของโรงงาน” ณ ห้วงเวลานั้นๆ ยอดขายที่ติดลมบน P-series ไม่ใช่แค่รถ นี่คือ “ตำนาน” ที่ยังคง…โบยบิน…!?!?!
เปิดเบาะดูความต่างของถังน้ำมัน 1984 มีช่องเติมน้ำมันช่องเดียวแบบฝาป๊อปอัพ/1998 ช่องเติมฝาเกลียว ข้างเป็นถังออโตลู้บ (2T) และเซ็นเซอร์ระดับน้ำมันเชื้อเพลิงที่แสดงผลมาที่หน้ามาตรวัด
Vespa PX-Series
เจ้าของ หนุ่ย-เอเจ / โอ๊ต-เอสอาร์
ความจุ : 149.48 ซี.ซี.
กระบอกสูบ/ช่วงชัก : 57.8 x 57 มม.
แรงม้าสูงสุด : 8 แรงม้าที่ 5,600 รอบ/นาที
กำลังอัดสูงสุด : 1:8
จุดระเบิด อิเล็กทรอนิกส์
เกียร์ : 4 เกียร์ (มือ)
คลัตช์ : เปียก (หลายแผ่น)
ระบบหล่อลื่น : ผสมถัง 2%
ขนาดยาง (หน้า / หลัง) : 3.50 x 10 นิ้ว
เบรก (หน้า / หลัง) : ดรัมเบรก 200 มม. / ดรัมเบรก 150 มม.
ความจุเชื้อเพลิง : 8 ลิตร (สำรอง 1.5 ลิตร)
อัตราสิ้นเปลือง : 100 กม. / 2.2 ลิตร
น้ำหนัก : 123 กก.
ความเร็วสูงสุด : 91 กม. / ชม.
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: ON 2 WHEEL / Roland Brown
: Vespa Style in motion/ Piaggio & C.s.p.a.
ไอศูรย์ ยุติธรรมรักษ์ :
“เป็นรถที่ใช้งานได้คุ้มค่ามากที่สุดรุ่นหนึ่ง เรียกว่าวิ่งได้สนุก…ตามตังค์เลยก็ว่าได้ อึด ทน และสามารถปรับแต่งได้หลากหลายสไตล์ เดิมๆ หรือแต่งซิ่ง ของเล่นมีให้เสพไม่รู้เบื่อ ผมใช้รุ่นปี 1984 PX150E “หัวเหลี่ยม” รถรุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “ปมด้อย” ของเจ้าของ และมักเปลี่ยนมันให้ทันสมัยขึ้นด้วยรถโมเดล “หัวกลม” ทว่า ปัจจุบัน ความคลาสสิกของรุ่น “หัวเหลี่ยม” คือกระแสตีกลับ ที่เจ้าของภาคภูมิใจ นี่แหละรถธรรมเนียมแท้ๆ ของ…สยามประเทศ!!!…”
ภาคภูมิ ไชยวงค์ :
“หลงรักครั้งแรกคือเป็นรุ่นที่สตาร์ตมือ (1998) พอได้ลองขี่ คือมันใช่เลย ขี่นิ่ง นิ่มนวล ทำความเร็วได้ เดินทางไกลเหมาะมาก กับระบบไฟแบบ CDI. ไฟส่องสว่างเต็มถนน อึด ทน ผมใช้มันทุกวันเหมือนรถบ้าน เป็นแขนขาเลยก็ว่าได้ และผมได้ใช้มันเดินทางไปสุดแผ่นดินสยามมา 3 หนด้วย ปัจจุบันผมมี PX รุ่นปี 1998 อยู่ 2 คัน และยังคงรักที่จะหามาไว้ครอบครองเพิ่มอีก”