1965 Vespa 150
1965 Vespa 150
ล้อเล็ก “พิมพ์นิยม” เวอร์ชัน “โชว์ของ”
ถามว่าเล่น “ล้อแปด” รุ่นไหนดี เทรนดี้จะตอบ “64” รถหัวกลมที่ “คุ้มค่า” อีกทั้ง “คุณภาพ” และ “ราคา” ที่เกินตัว แถมถือยาวๆ ราคาขึ้นยิ่งกว่าทอง ถือเป็น “หน่วยการลงทุน” ที่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ จากที่มีโอกาสคลุกวงในร่วม “2 ทศวรรษ” ทฤษฎีนี้จริง ไม่ว่ารุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ เจนฯไหนๆ ก็ต้องขอมี “รุ่นหกสี่” นี้ไว้สักคัน แถมปรับมันด้วยลายเซ็นตามแนวที่พิสมัย ที่มีให้เลือกทั้ง เดิม แห้ง มอดส์ หรือ…“ออปชัน”…แต่งล้น!!!
ชุดบนเด่นที่ปีกนางฟ้า แบรนด์ไหนจำไม่ได้ ครอบดั้ง Vigano กับเทพแห่งวงการเดินทาง CY
ชุดล่าง กันชน Vigano แมตช์กับหงอนบังโคลน CY แมตช์ชุดกันง่ายๆ ด้วยยางรองแดง
ตัดตอนมาสู่ยุคปี 1958 “ยุคเปลี่ยนถ่าย” สำคัญครั้งหนึ่งของโรงงาน Piaggio เหล่ารถจักรยานยนต์ “แฮนด์แป๊บ-กระโปรงเว้า” จากแบบแผนการผลิตรุ่นดั้งเดิม…กำลัง…จะได้รับการขัดเกลาครั้งใหญ่ “พิมพ์เขียว” เอี่ยมอ่องเพื่อรองรับการขยายตัวทั้งทางด้านเศรษฐกิจและวิวัฒนาการแห่งโลกการค้าเสรีถูกใช้เป็นใบเบิกทาง อานิสงส์จากเครื่องยนต์ “สุดประหยัด” ทั้ง 125/150 ซี.ซี….กำลังจะสูญพันธุ์!!!…หากมองในแง่ของการพัฒนาธุรกิจที่เป็นเหตุผลโดยชอบธรรม มันถึงเวลาแล้วที่ต้อง…ยกเครื่อง!!!…ทีมวิศวกรรมเสนอรูปเทคนิคงาน “ขึ้นบอดี้” แบบใหม่หลังได้รับการอนุมัติ เหล็กแผ่นขึ้นรูปไร้เฟรม (Monocoque) ยังคงถูกใช้เป็นพื้นฐาน ทว่า เทคนิคการสอดประสานบอดี้แบบใหม่ถูกหยิบมาใช้ โดยเฉพาะบั้นท้ายที่ขึ้นรูปแยกชิ้น ประกบซ้าย/ขวา…ก่อน…ทำ “การเชื่อม” ตามแนวตะเข็บสันกลางตลอดลำตัว มันเพิ่มความแข็งแกร่ง มั่นคง และลดอาการบิดตัวได้เป็นอย่างดีกว่า…ทั้ง…125/150 ซี.ซี. คันใหม่ก็กำลังเกิดเป็นรูปเป็นร่าง
ชุดใหญ่ไฟกะพริบ ปลิงข้าง Vigano
ชุดหน้าขาเดี่ยว เป็นแบบโปรอาร์ม สวิงแอบซอร์บด้วยไฮดรอลิกและแยกคอสปริงออกจากกัน
เครื่องยนต์ถูกปรับตำแหน่ง และขยับน้ำหนักมาวางทาง “ด้านซ้าย” ของตัวถังมากขึ้น ซีกขวาเป็นที่อยู่ของห้องกักอากาศขนาดใหญ่ที่พร้อมจะเรียกใช้สู่ห้องเผาไหม้ เฟืองสตาร์ตซี่รอบแบบใหม่ถูกติดตั้งแทนที่ มันจำเป็นต้องปรับหน้าตาของห้องเกียร์ รวมถึงเคสเครื่องยนต์ก็ดูจะผิดแผกแตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด เทคโนโลยีที่ถูกผนวกเข้ากับโครงการนี้ จึงช่วยให้ภาพรวมของโครงสร้างรถนั้น “แคบลง” เหลือเพียง 26 นิ้ว (จากเดิม 31 นิ้ว) ทว่า ก็ได้ฐานล้อที่ยาวขึ้นเป็น 69.5 นิ้ว (จากเดิม 67 นิ้ว) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส่วนท้ายบริเวณจุดวางถังน้ำมันเชื้อเพลิง) ที่ปรับองศาให้มันยกตัวสูงขึ้น มันดูเรียบๆ ตรงๆ ไม่โค้งสโลปล้ออย่างที่ชินตา…กระโปรงท้ายแบบยึด 2 จุด กลไก “บิดล็อก” ก็เป็นอีกจุดที่ได้รับการแก้ไข การออกแบบซี่ร่องเป็นเส้นยาวป้องกันตัวพัดลมก็ดูโดดเด่นสะดุดตา มันเป็นรูปแบบเดียวกันกับฝาครอบพัดลมที่ต่างก็ได้รับการออกแบบใหม่ให้สอดรับกัน
บนบั้นท้ายอวบๆ จัดให้อีก 1 ชุด กรอบ Vigano ยางกันโคลน Biemme กับไฟเลี้ยวดอทแดง ที่ต่อการทำงานเป็นไฟท้ายด้วย ให้สีสันสว่างไสวในเวลากลางคืน
ท่อไอเสียแต่งงานออฟเตอร์ สวยด้วย ทว่า เผยให้เห็นว่าเจ้าของแอบซิ่งอยู่เหมือนกัน
เฉพาะแค่ไลน์ผลิตเครื่องยนต์ขนาด 150 ซี.ซี. นั้นยังแตกหน่อให้ได้ใช้สอยกันอีกหลายรุ่น โดยรถรุ่นแรกที่ยังคงชิ้นส่วนงานจากรุ่น 125 ซี.ซี. ที่เป็นแม่บท ชุดเกียร์แบบ 3 สปีดดูจะเป็นข้อสังเกตุสังกาที่บ่งบอกถึงความเปรียบต่าง…1960 ยุคที่ถือเป็น “รอยต่อ” สู่ความเป็นที่สุด ด้วยเครื่องยนต์ที่ถูกอัพเกรด ช่องพอร์ตต่างๆ ถูกเขี่ยเกาจนได้แรงอัดเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย (จาก 6.5 เป็น 6.8 ) เกียร์ชุดใหม่ในอัตราที่ไหลยาวแบบ 4 สปีดผลิตใช้งาน “มาร์คเกียร์ขีด” คือรถ “เวอร์ชันแรก” ที่ส่งเข้าตลาด ที่ยังคงพ่วงสิ่งละอันจากรถต้นไลน์ผลิต (1958-1960)…จากรุ่น “ขาเบรกข้างเดียว” (1958-1962) คือคำจำกัดความจากปากเซียนรุ่นเก๋าที่เล่า…ผ่าน…ได้จดจำ ผ้าเบรก (หลัง) แกนล็อกเบรกร่วม ภายในดุมเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 127 มม. นี่อาจจะยังไม่…หนึบ!!! เวอร์ชันอัพเกรดถึงเป็นแค่จุดเล็กจุดน้อย ทางทีมงานกลับไม่มองผ่าน “รถขาเบรกคู่” (VBB2T) ถูกใช้แทนที่ในปีถัดมา มันช่วยเพิ่มหน้าสัมผัสของผ้าเบรกที่ประกบเข้าขอบดุมทำงานได้เต็มพื้นมากขึ้น มันส่งผลเรื่องความ…ชัวร์!!!…ก่อน…ที่ไลน์ผลิตสุดท้าย “เซียน” ยังสำทับว่ารุ่น “มาร์คเกียร์จุด” คือจุดสังเกตสังกา ซึ่งเป็นที่มาของ “รุ่นยอดนิยม” …จน…เรียกติดปากว่ารุ่น… “หกสี่”…นั่นเอง !?!?!
“มาร์คเกียร์จุด” ข้อบ่งชี้ไลน์ผลิตสุดท้ายของรุ่น “ล้อ 8” VBB2T ที่มาพร้อมคุณภาพที่เด่นเกินตัว
1965 Vespa 150
รถ PIAGGIO
รุ่น / ปี Vespa 150 / 1965 (VBB2T-xxxxxx)
เจ้าของ เดียร์ สวนหลวง
เครื่องยนต์ 1 สูบ 2 จังหวะ 145.5 ซี.ซี. 5.5 แรงม้า @ 5,000 rpm
ระบายความร้อนด้วยพัดลม
กำลังอัด 6.8:1
ระบบไฟ ทองขาว 6 v.
ระบบเกียร์ 4 เกียร์
ระบบคลัตช์ เปียก (หลายแผ่น)
ระบบขับเคลื่อน เฟือง
ระบบโช้คอัพ (หน้า / หลัง) คอยล์สปริงโช้คน้ำมัน (แยกไฮดรอลิก)
ระบบเบรก (หน้า / หลัง) ดรัมเบรก (ดุมหน้าขนาด 125 มม. / หลัง 127 มม.)
ล้อ / ยาง (หน้า / หลัง) 3.50 X 8 นิ้ว
ความจุเชื้อเพลิง 7.7 ลิตร
กว้าง / ยาว / สูง 710 / 1,735 / 1,180 มม.
ฐานล้อ 1,165 มม.
น้ำหนัก 93 กก.
ความเร็วสูงสุด 87 กม. / ชม.
อ้างอิง : THE ENCYCLOPEDIA OF THE MOTORCYCLE / Hugo Willson
: VESPA STYLE IN MOTION / Davide Mazzanti
: 60 years of THE VESPA / Giorgio Sarti
จัดใหญ่ๆ อีกชุด ฝาครอบล้อนอสๆ “ตายคาร์สต็อก” ครบทั้ง 3 ฝา เครื่องหมายการค้าของ ULMA
“เดียร์ สวนหลวง” คันนี้เจ้าของลงไปเยอะ แต่ก็สวยสมใจ รถสีคลาสสิก ตัดด้วยของแต่งเงาๆ แบรนด์ท็อป มันคือความลงตัวใหม่ ที่คุณค่าอยู่เหนือราคาที่ต้องพูดถึง
STORY/ PHOTO : SCOOTER MANIA!